ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วัชนี หัตถพนม และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาระบบการให้บริการปรึกษาแก่เครือข่ายฯในการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 159-160.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลในระดับตติยภูมิ โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลักคือ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้ป่วยจิตเวช หน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งเพื่อดำเนินงานดังกล่าวคือ การให้การปรึกษาแก่เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตในจังหวัดที่รับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชขณะอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักผู้ช่วยผู้อำนวยการจังหวัด แต่ที่ผ่านมามีการให้การปรึกษาแต่ไม่ครอบคลุมความต้องการของพื้นที่ ไม่มีการลงบันทึกรายงานและไม่มีการติดตามผลการดำเนินงาน การดำเนินงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ให้เครือข่ายได้รับการปรึกษาในการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน 2. ผู้ป่วยที่ประสบภาวะวิกฤตทุกคนที่เครือข่ายฯ ขอรับการปรึกษาได้รับการติดตามผลการรักษา 3. พัฒนาระบบบันทึกให้การปรึกษา ขอบเขตการศึกษา การให้การปรึกษาแก่เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตใน 5 จังหวัด ที่รับผิดชอบ คือ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี และหนองคาย วิธีดำเนินการ 1. ประชุมประเมินสถานการณ์ปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา พบว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากบุคลากรไม่เห็นความสำคัญหรือจำเป็น คิดว่าเป็นหน้าที่ตามปกติ จึงไม่ลงบันทึก ขาดการติดตามประเมินผลหลังให้การปรึกษาผู้ป่วยวิกฤตแก่เครือข่าย ไม่มีบุคลากรให้การปรึกษาในสำนักงาน นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาที่เกิดจากระบบการให้การปรึกษา เนื่องจากไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ไม่มีระบบการลงทะเบียนให้การปรึกษา แต่ละครั้งให้การปรึกษาเฉพาะจังหวัดที่รับผิดชอบ สถิติให้การปรึกษาที่ผ่านมาน้อยกว่าจริง โดยเมื่อทบทวนการดำเนินงานทั้งปีได้ 17 รายใน 5 จังหวัด 2. ได้ดำเนินการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานและชี้แจงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบถึงความสำคัญในการให้การปรึกษาและวิธีการปฏิบัติโดยมีการให้การปรึกษาได้ทุกจังหวัด ในกรณีผู้รับผิดชอบจังหวัดนั้นๆ ไม่อยู่ จัดทำแบบฟอร์มในการลงบันทึกและให้ผู้ให้การปรึกษาลงบันทึกทันทีที่ดำเนินการเสร็จ ติดตามประเมินผลผู้ประสบภาวะวิกฤตภายใน 3 วันทำการ ประสานงานให้มีผู้ช่วยอำนวยการจังหวัด ต้องประจำสำนักงานอย่างน้อย 1 คน (กรณีต้องไปราชการพร้อมๆ กัน) 3. ทดลองปฏิบัติงานตามแผนตั้งแต่ 1-30 พฤศจิกายน 2546 4. ประเมินผลและปรับปรุงวิธีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น 5. สรุปผลการปฏิบัติและจัดทำเป็นคู่มือเผยแพร่แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546-มีนาคม 2547 ผลการดำเนินงาน 1. เครือข่ายได้รับบริการตามที่ร้องขอใน 5 จังหวัด ร้อยละ 100.0 (เป้าหมายอย่างน้อย ร้อยละ 90.0) 2. ผู้ป่วยที่ขอปรึกษาที่ประสบภาวะวิกฤตได้รับการติดตามผลการรักษาภายหลังให้การปรึกษาไม่เกิน 3 วันทำการ ร้อยละ 100.0 ซึ่งได้ตามเป้าหมายร้อยละ 100.0 เช่นกัน มีบันทึกรายงานการให้การปรึกษาได้ตามเป้าหมาย คือร้อยละ 100.0 โดยมีจำนวนผู้ขอรับการปรึกษา 26 ราย (พฤศจิกายน 2546-มีนาคม 2547) สรุปและข้อเสนอแนะ การให้การปรึกษาแก่เครือข่ายในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนช่วยให้ลดการมารักษาซ้ำเป็นผู้ป่วยใน ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอยู่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังช่วยลดการเกิดพฤติกรรมรุนแรงจากอาการของผู้ป่วยขณะอยู่ในชุมชนได้ ควรมีการพัฒนาเชิงรุก โดยการให้บริการติดตามปัญหาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชกับโรงพยาบาลแม่ข่ายระดับอำเภอทางโทรศัพท์อย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยอาจนำร่องเพียงจังหวัดเดียวก่อน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น

Keywords: จิตเวชชุมชน, เครือข่าย, บริการปรึกษา, ปรึกษา, ผู้ป่วยจิตเวช, โรคจิต, ชุมชน, ระบบบริการ, การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 1000124

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -