ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดร.สมจิตต์ ลุประสงค์

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาบริการสุขภาพจิตในระบบบริการสาธารณสุขจังหวัดนครพนม

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13, 25-27 สิงหาคม 2547, ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 169.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน ทรัพยากรทางบริการสุขภาพจิตยังมีความจำกัดอยู่มาก การให้การบริการยังมุ่งเน้นการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตในระดับตติยภูมิ โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้น้อย ผู้วิจัยจึงสนใจจะศึกษาการพัฒนาบริการสุขภาพจิตในระบบบริการสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โดยการพัฒนาศักยภาพและความพร้อมของผู้ให้บริการสาธารณสุขในชุมชน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตของประชาชนให้มากขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบัน วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบริการสุขภาพจิตในระบบบริการสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ขอบเขตการวิจัย ศึกษาในกลุ่มบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ และกลุ่มประชาชนผู้มารับบริการในจังหวัดนครพนม ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยปฏิบัติการ(Action Research) ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยได้จากสถานบริการสาธารณสุขในจังหวัดนครพนม ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุขในระดับจังหวัด/อำเภอ/ตำบล จำนวน 46 คน และประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 10 แห่ง และศูนย์สุขภาพชุมชน 24 แห่ง รวม 35 แห่ง รวมทั้งสิ้น 350 คน เก็บข้อมูลโดยวิธีการสัมภาษณ์เจาะลึก การสนทนากลุ่ม และการสังเกตแบบมีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ เช่น ร้อยละ ค่าเฉลี่ย อัตราส่วน สรุปผลการวิจัย มุมมองของบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการสุขภาพจิตในชุมชน พบว่าต้องการความรู้และทักษะเพิ่มเติมเพื่อให้บริการสุขภาพจิตอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิต ในปัจจุบันจึงได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพและความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการศึกษาดูงานในโรงพยาบาลจิตเวช และทีมสุขภาพจิตร่วมปฏิบัติงานในชุมชน เมื่อติดตามประเมินผลพบว่า บุคลากรสาธารณสุขมีทัศนคติในทางที่ดีต่อบริการสุขภาพจิต มีความรู้ทักษะ และให้บริการสุขภาพจิตด้วยความมั่นใจมากขึ้น สามารถส่งต่อผู้รับบริการได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดความต่อเนื่องของการดูแล รวมทั้งมีการบันทึกรายงานอย่างเป็นระบบ และมีช่องทางที่สามารถเชื่อมโยงบริการระหว่างโรงพยาบาลจิตเวชและชุมชนได้ชัดเจน ส่วนมุมมองของผู้รับบริการ พบว่ามีความพึงพอใจในบริการ และสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ข้อเสนอแนะ การพัฒนาศักยภาพและความพร้อมของบุคลากรสาธารณสุขเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง หากมีการศึกษาและตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของแต่ละพื้นที่ ย่อมส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินงานมากขึ้น ดังนั้นในแต่ละพื้นที่ควรตระหนักและดำเนินการอย่างรอบคอบ.

Keywords: บริการสุขภาพจิต, ระบบบริการ, ชุมชน, สุขภาพจิต, สุขภาพจิตชุมชน, จิตเวชชุมชน, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์

Code: 1000130

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตนานาชาติประจำปี 2547 สุขภาพจิตกับยาเสพติด

Download: -