ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วนิดา รัตนานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยพื้นฐาน ความสามารถในการดูแลตนเองการสนับสนุนทางสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด

แหล่งที่มา/Source: วารสารพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ 15, ฉบับที่ 3, กันยายน-ธันวาคม 2546, หน้า 72-83.

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด และเพื่อทดสอบความสัมพันธ์เชิงพยากรณ์ของปัจจัยพื้นฐาน ความสามารถในการดูแลตนเอง และการสนับสนุนทางสังคมต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด โดยใช้ทฤษฎีความพร่องในการดูแลตนเองของ Orem (2001) เป็นกรอบแนวคิดในการศึกษา กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยหญิงโรคมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด ที่มารับการตรวจตามนัดที่คลินิกศัลยกรรม ภปร.ชั้น 6 แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และที่คลินิกศัลยกรรมเต้านม แผนกผู้ป่วยนอก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จำนวน 130 คน เลือกโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามปัจจัยพื้นฐาน ความสามารถในการดูแลตนเอง การสนับสนุนทางสังคม และคุณภาพชีวิต ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาและความเที่ยง แล้วมีค่าความเที่ยงเท่ากับ .93ม .91 และ .81 ตามลำดับสถิติ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. คุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดโดยรวมเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง (X=73.98) 2. การสนับสนุนทางสังคม ความสามารถในการดูแลตนเอง การศึกษาประถมศึกษา รายได้ของครอบครัว 2,000-4,999 บาทต่อเดือน สามารถร่วมกันพยากรณ์คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย มะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดได้ร้อยละ 22 (R2 = .218) นำมาสร้างสมการพยากรณ์ ในรูปคะแนนมาตรฐาน ได้ดังนี้ Z^ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด = .258Z การสนับสนุนทางสังคม +.232Z ความสามารถในการดูแลตนเอง -.195Z การศึกษาประถมศึกษา -.167Z รายได้ 2,000-4,999 บาทต่อเดือน ผลการวิจัยให้ข้อเสนอแนะในการปฏิบัติการพยาบาล และการศึกษาวิจัยในการวางแผนให้การดูแลเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดนั้น พยาบาลต้องคำนึงถึงการส่งเสริมให้สังคมของผู้ป่วย ได้แก่ คู่สมรส ครอบครัว ญาติสนิท เพื่อนและบุคคลใกล้ชิดเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วย และการพัฒนาความสามารถของผู้ป่วยในการดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมทั้งนี้ต้องมุ่งพัฒนากลุ่มผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย และการศึกษาต่ำเป็นลำดับแรก

Keywords: คุณภาพชีวิต, ปัจจัยพื้นฐาน, ความสามารถในการดูแลตนเอง, การสนับสนุนทางสังคม, ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัด, สุขภาพจิต, การปฏิบัติการพยาบาล,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: พยาบาลประจำการ 6 ตึกอาทร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

Code: 100049

ISSN/ISBN: 0858-1231

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Abstract Journal.

Download: -