ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จินตนา ว่องวิไลรัตน์ และจารุณีย์ แสนเสนา

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนากลวิธีการติดตามทารกที่มีผลคัดกรองเบื้องต้นผิดปกติกลับมาตรวจยืนยันในงานตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดในเขตรับผิดชอบของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการร่วมระหว่างหน่วยงานภายใต้กลุ่มภารกิจด้านสนับสนุนงานบริการสุขภาพ ครั้งที่ 2 "สาธารณสุขไทยในยุคเปิดเสรีทางการค้า" วันที่ 3-4 พฤษภาคม 2547 ณ โรงแรมเดอะแอมบาสเดอร์, หน้า 81.

รายละเอียด / Details:

การตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิด (Neonatal Screening) เป็นวิธีการป้องกันโรคปัญญาอ่อนที่มีสาเหตุจากภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism) และป้องกันโรคฟินิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria: PKU) การตรวจคัดกรองเป็นการเจาะเลือดทารกหลังคลอด 48 ชั่วโมง ลงบนกระดาษซับเลือดแล้วส่งตรวจหาระดับ TSH และ PKU ถ้ามีแนวโน้มผิดปกติจะเจาะเลือดทารกเพื่อตรวจยืนยันผลอีกครั้ง หากพบว่ามีความผิดปกติจริงก็สามารถรักษาให้ทารกมีสุขภาพปกติได้ การตรวจคัดกรองในประเทศไทยได้ดำเนินการมากว่า 10 ปี ปัญหาที่พบคือทารกที่มีค่า TSH ผิดปกติ สามารถติดตามเพื่อกลับมาตรวจยืนยันได้เพียงร้อยละ 53.9 ดังนั้นผู้ศึกษาจึงได้ กำหนดกลวิธีต่างๆ คือ การศึกษาปัญหาและอุปสรรค การกำหนดรูปแบบกิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค และการประเมินผลการดำเนินการในเขตพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานี อันประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทารกได้รับการตรวจยืนยันไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จากการดำเนินงานตามกลวิธีดังกล่าวในระหว่างเดือนเมษายน 2546 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2547พบว่าทารกที่คลอดในโรงพยาบาลทุกแห่งที่มีผลการตรวจ TSH ผิดปกติสามารถติดตามตรวจยืนยันได้ถึงร้อยละ 93.8 ซึ่งแสดงว่ากลวิธีดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะเป็นแนวทางในการติดตามทารกเพื่อตรวจยืนยันผลการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศได้

Keywords: โรคปัญญาอ่อน, ปัญญาอ่อน, ทารกแรกเกิด, ตรวจเลือด, การตรวจทางห้องทดลอง, MR, mental retardation, phenylketoneurea, PKU

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

Code: 100061

ISSN/ISBN: 974-92137-9-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการ

Download: -