ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุภา มาลากุล ณ อยุธยา

ชื่อเรื่อง/Title: วัฒนธรรมกับพัฒนาการเด็กวัยรุ่น

แหล่งที่มา/Source: วารสารจิตวิทยาคลินิก. ปีที่ 4, ฉบับที่ 2, พฤษภาคม 2516, หน้า 13-24.

รายละเอียด / Details:

วัฒนธรรมกับพัฒนาการเด็กวัยรุ่น เป็นเรื่องที่กว้างขวางและเป็นเรื่องที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์อะไรยืนยันได้แน่นอน ดิฉันถือว่าเป็นเพียงประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉันที่จะนำมาเล่ามาเผยแพร่ เพื่อจะเร้าความนึกคิดของท่านทั้งหลาย ให้ช่วยกันคิดต่อไป ดิฉันขอหวังว่านักวิจัย นักจิตวิทยาคลนิกที่รักการวิจัยเท่านั้น ที่จะเป็นผู้พิสูจน์สมมุติฐานที่ดิฉันจะเล่าให้เป็นที่กระจ่างแจ้ง คำว่า "วัฒนธรรม" หมายถึงแบบฉบับของการกิน อยู่ หลับ นอน การแต่งกาย การแสดงออก หรือการพูดจาของคนแต่ละกลุ่ม ที่ถ่ายทอดออกมาตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา มันเป็นแบบฉบับที่เปลี่ยนแปลงได้ แล้วก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอปกติก็มักจะเปลี่ยนช้าๆ จนเราแทบไม่รู้สึก เวลาผ่านไปมันก็เปลี่ยนไป และก็เปลี่ยนไปตามความต้องการ ซึ่งเป็นความต้องการจากภายในของสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งเกิดขึ้นเป็นผลเนื่องจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงนั้นเอง เพราะฉะนั้นวัฒนธรรม ก็ตกอยู่ในอิทธิพลของคนในกลุ่มนั้นเอง ตกอยู่ในอิทธิพลของกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมของคนในกลุ่มนั้นๆ วัฒนธรรมบางเรื่องก็เปลี่ยนได้ง่าย บางเรื่องก็เปลี่ยนได้ยาก เรื่องที่เปลี่ยนง่ายที่เราเห็นได้ชัด เช่น วัฒนธรรมในการแต่งกาย การรับประทาน หรือสภาพที่อยู่อาศัยนี้เปลี่ยนได้เร็วและเปลี่ยนได้ง่าย แต่ในเรื่องทางจิตใจแล้วเป็นเรื่องที่เปลี่ยนได้ยาก เช่น ทัศนคติ การรับรู้ การนึกคิด หรือนิสัยทางอารมณ์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนได้ยากแต่ก็ยังต้องเปลี่ยนอยู่นั่นเอง เพื่อความอยู่รอดของแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่ม แต่จะเปลี่ยนอะไร อย่างไร เพียงใดนั้นมันขึ้นอยู่กับสาเหตุหลายอัน หรือปัจจัยหลายอัน แต่โดยปกติแล้วมีหลักเกณฑ์ว่า จะเปลี่ยนอะไรก็เสียให้น้อยและให้ได้มากๆ อันนี้เป็นหลักเศรษฐกิจประจำของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเป็นหลักทางจิตวิทยา อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่เราทราบกันดีอยู่ การจะเปลี่ยนอะไรที่เกิดขึ้นเองจากสามัญสำนึก หรือคำตอบในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ว่าจะเปลี่ยนอะไร ถ้ามันเกิดจากสามัญสำนึกของแต่ละคนเท่านั้นไม่เพียงพอ มันมักจะไม่เข้ากับหลัก Economic Principle (หลักเศรษฐกิจ) ที่ดิฉันได้กล่าวแล้วเพราะฉะนั้น เราก็ต้องการทราบความแน่นอน การเชื่อถือได้ ในการที่จะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ก่อนความแน่นอน การเชื่อถือได้นี้ก็จะต้องมาจากการค้นคว้าวิจัย เพราะฉะนั้น Cultural Research หรือการค้นคว้าทางวัฒนธรรมจึงถือเป็นงานชิ้นสำคัญ ที่ท้าทายพวกเราซึ่งอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้และเป็นสิ่งที่เราจะมองข้ามเลยไปไม่ได้ และก็ไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนเดียว นักสังคมฯ และนักวิทยาศาสตร์ทางสังคมทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยา จะเป็นนักสังคมศาสตร์ หรือนักมนุษยวิทยาเหล่านี้ จะต้องผนึกกำลังกันจริงๆ เพราะเราจิตแพทย์นี้ไม่สู้จะมีปัญญา หรือมีวุฒิพอที่จะทำได้ แต่เราเฝ้าคอยผลการวิจัยเหล่านี้เพื่อจะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการรักษาคนไข้ และในการป้องกันปัญหาทางจิตใจอยู่เสมอ วิชาชีพอื่น เช่นครู อาจารย์ หรือพ่อแม่ ก็กำลังคอยผลงานอันนี้อยู่ ถัดมาดิฉันอยากจะพูดถึงเรื่องพัฒนาการของเด็กวัยรุ่น คำว่าพัฒนาการเด็กวัยรุ่นนี้รู้สึกว่าเราจะขึ้นใจกันอยู่แล้ว และมีการศึกษากันอย่างกว้างขวางมากมาย แต่ที่เรารู้กัน เรียนกันนั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากวัฒนธรรมตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ เราก็ยังมีข้อสงสัยว่ามันจะใช้ได้ไหมกับเด็กไทยของเรา นี่ก็เป็นอีกอันดับหนึ่งเป็นช่องโหว่ที่รอการวิจัยในเรื่องนี้มาตอบเรา เราก็ต้องกำหนดเอาว่าพัฒนาการของเด็กวัยรุ่นในเด็กไทยๆ นี้ เท่าที่พวกเราทำงานกันมาก็คงจะเห็นพ้องต้องกันว่า หลักเกณฑ์ของตะวันตกนั้นพอใช้ได้ในพัฒนาการของเด็กวัยรุ่นนี้ เราทราบกันว่าเด็กจะพัฒนาไปได้ด้วยดีนั้นก็ขึ้นอยู่กับ ความต้องการมูลฐานของเด็กนั้น ได้รับความตอบสนองครบถ้วนเพียงใด ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองครบถ้วนถูกต้อง เขาก็ผ่านการเจริญเติบโตในวัยนี้ไปเป็นผู้ใหญ่ได้เหมาะสม เพราะฉะนั้นเราคงจะพูดกันทั้งหมดไม่ได้ ดิฉันจะเลือกเอา ความต้องการมูลฐานบางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันจะขัดแย้งกับวัฒนธรรมของเรา ดิฉันจะหยิบมาสักห้าหัวข้อด้วยกัน หัวข้อแรกคือ ความต้องการที่จะมีกิจกรรมหรือมีผลิตผลคือ need for productivity และ Activity ของเด็ก ข้อที่สองคือ Indenpendency need ความต้องการที่จะเป็นเสรีแก่ตัวเอง ต้องการที่จะเรียนอะไรด้วยตัวเอง ต้องการที่จะมีประสบการณ์ และต้องการที่จะปกครองตัวเอง ข้อที่สาม คือท่าทีต่อต้านผู้บังคับบัญชาที่เรียกว่า Rebel Authority ข้อที่สาม คือความต้องการที่จะหาทางสายกลาง ในเรื่องความก้าวร้าวและความสมยอม หรือ need to find mean and way about aggression and sunmission ข้อที่ห้า จะพูดถึงเรื่องของ Heterosexual need ความต้องการที่จะมีเพื่อนเพศตรงกันข้าม และความต้องการทางเพศ ดิฉันแน่ใจว่า ดิฉันจะพูดไม่ได้ทั้งหมด แต่จะหยิบเอาสักบทที่อยู่ในใจของดิฉันเด่นๆ นั้นมาเล่าสู่กันฟัง หัวข้อแรกคือ ความต้องการที่จะมีกิจกรรม หรือต้องการที่จะมีผลผลิตเด็กวัยรุ่นมักแสดงออกอยู่ในลักษณะพฤติกรรม เช่น มักจะเป็นคนอยู่ไม่สุข ต้องการทำโน่นทำนี่ รื้อค้น ซักถาม ขอร้องพ่อแม่อยู่เสมอว่าอยากจะไปโน่น อยากจะทำสิ่งนี้ซึ่งมักแตกต่างไปจากวัยต้นๆ ของเด็ก เห็นใครทำอะไรเข้าอยากทำสิ่งนั้น บางทีก็ยังไม่รู้เลยว่าจะทำยังไง แต่เท่าที่เขาได้รับตอบสนองจากผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ของเรา ในเรื่อง need อันนี้ก็คือ "การหักห้าม" นับตั้งแต่บอกว่า เอออย่ายุ่งให้มันมากนักเลยน่า อย่าเที่ยวกันนักเลย เดี๋ยวใจจะแตก อย่าไปเที่ยวเลย เดี๋ยวไปมีเรื่องกับคนอื่น หรือไม่ก็เดี๋ยวไปมีอันตราย ทำอะไรก็ห้ามอย่าทำเลย เดี๋ยวเสียของ อ่านหนังสือก็ว่าอ่านอะไรไม่รู้ ไม่เป็นสาระ แล้วก็บอกให้ดูหนังสือดีกว่า หรือมาทำงานบ้านดีกว่า นี่ก็เป็นเรื่องขัดแย้งกันระหว่างทัศนคติของพ่อแม่กับเด็ก ทำไมพ่อแม่ถึงทำอย่างนั้น ดิฉันอยากจะเรียนว่าเพราะพ่อแม่ของไทยเรานี้มีนิสัย หรือว่าความชอบซึ่งสืบเนื่องมาจากดึกดำบรรพ์ว่าชอบคนอยู่เฉยๆ แล้วก็แสดงให้เด็กรู้มาตั้งแต่เล็กแล้วว่าถ้าเฉยแล้วดี เห็นได้จากเด็ก 2-5 ขวบ ที่ลุกขึ้นช่วยแม่กวาด ถูเรือน บ้างก็ช่วยคนใช้ถูบ้าน ก็จะถูกจับไปนั่งนิ่งๆ แม่ก็จะบอกว่า ไหว้ละ กราบละ นั่งนิ่งๆ เถอะน่า เดี๋ยวจะให้ขนม บอกอย่างนั้นเรื่อยมา เพราะฉะนั้นพอมาถึงวัยรุ่นก็จะยิ่งช่วยยืนยันใหญ่ว่า นั่งเฉยๆ นี่ แม่รัก พ่อรัก เราก็จะได้เด็กของเราที่ผิดหวังที่จะเป็นเด็กขยัน แต่กลายเป็นเด็กที่มีผลิตผลในรูปการหักห้ามลักษณะนี้ เด็กวัยรุ่นมีธรรมชาติ คือร่างกายเจริญเติบโตรวดเร็วกินเก่งนอนเก่ง เพราะฉะนั้นพลังเหลือใช้มีเยอะแยะ จะไปทางไหนเมื่อถูกห้ามไม่ให้ออกในการทำกิจกรรมทางร่างกาย ก็ต้องหันไปออกทางกิจกรรมทางจิตใจ หรือทางอารมณ์ เพราะฉะนั้นการเพ้อฝันการสร้างความคิดคำนึง สร้างวิมานในอากาศ หรือไม่ก็บอกว่านอนเลยดีกว่า นอนมากก็โดนว่าอีกละว่าสันหลังยาว ไปขีดเขียนบทประพันธ์บทกลอน ก็ว่าจะเป็นนักประพันธ์ไส้แห้ง ถ้าเล่นดนตรีก็ว่าเจ้านี่หนีไม่พ้นขี้ยา หรือกัญชาละ ซึ่งไม่สนับสนุนสักอย่าง เด็กของเราจึงหันไปติด ดิฉันเรียกว่า addicted คือ ติด ที.วี. วิทยุ เพราะเป็นกิจกรรมอันเดียวที่เด็กจะทำได้ เพราะจะกระโดดโลดเต้นอย่างไรก็ไม่ได้ ทำอะไรผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยจึงหันไป addicted กับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเรายิ่งควบคุมก็ยิ่งแก้ไม่ได้ ผลที่เราได้จาก Action-Reaction ในเรื่องนี้เราได้อะไร เราได้เด็กของเราซึ่งไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตอยู่กับความฝัน ซึ่งจะไปสร้างวิมานอยู่ในอากาศอย่างบรรเจิดบรรจงเลยทีเดียวผลที่ได้คือ Idea! เยอะแยะเต็มไปด้วยอุดมคติแต่ไม่มีผลงานออกมา หรืออีกแบบหนึ่งเราก็ได้คนที่เฉื่อยชา ซึ่งไม่มีผลิตผลอะไรมากนัก ไม่มีความคิดริเริ่ม ดีแต่เป็น Routine worker คือคนทำงานตามกิจวัตรที่เขาวางไว้จะทำอะไรแปลกไปสักหน่อยไม่ทำแล้ว กลัวผิดกลัวยาก กลัวลำบาก กลัวไม่ดี และผลที่เราได้ คนรุ่นดิฉันคงจะเห็นด้วยว่างานเรานี่ช้า บ้านเมืองก็พัฒนาช้า เพราะฉะนั้นน่าคิดว่าเราควรจะเปลี่ยนวิธีเลี้ยงเด็กของเราหรือยัง จะเริ่มตั้งแต่ตรงไหน จะทำอะไรให้เด็กของเรา Active 1กว่านี้ ใช้เวลาให้มีประโยชน์กว่านี้ และเป็นคนริเริ่มมากกว่านี้ ในประการที่ 2 คือ ความต้องการเป็นเสรีแก่ตัว Independency need ปกติเด็กก็แสดงออกมาในรูปต่างๆ กันเช่น อยากปกครองตัวเอง ขอสตางค์เป็นรายเดือนหรือรายอาทิตย์ อยากจะซื้อข้าวของเอง อยากจะไปไหนมาไหนลำพัง อยากจะทำกิจกรรมบางอย่างอย่างผู้ใหญ่ เช่น อยากจะขับรถ อยากกินเหล้า หรือสูบบุหรี่ดูบ้างซิ ผู้ใหญ่เขาทำกันนี่รสชาติเป็นอย่างไร กิจกรรมเหล่านี้ หรือความต้องการที่แสดงออกเหล่านี้ มีรากฐานมาแตกความอยากเป็นเสรีแก่ตัว คืออยากจะเป็นผู้ใหญ่ด้วยตัวเอง ก็มักจะไม่ได้รับการอนุญาตให้ทำ ซึ่งเป็นการปิดโอกาสที่เขาจะได้เรียนจากของจริง และวัฒนธรรมไทยเราในข้อนี้ พยายามจะสอนเด็กให้รู้ชีวิต โดยการเทศนาสั่งสอน (Teaching) ยิ่ง Teach ก็ยิ่งไม่ฟัง และเพราะสมาธิที่จะฟังก็ไม่มีร่างกายก็ลุกลี้ลุกลน active อยู่แล้วเพราะฉะนั้นก็ไม่ค่อยฟัง ไม่ฟังก็รบไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็น่าคิดเหมือนกันนะคะว่า ควรจะเปิดโอกาสให้เด็กไทยเรานี่ ได้ลองชีวิตจริงสักแค่ไหน จะปล่อยไปสักแค่ไหนเราจะเปลี่ยนวิธีการอย่างไรในเรื่องการอบรมเหล่านี้ ให้เด็๋กของเราได้รู้ชีวิตจริงๆ บ้าง การสั่งห้ามในเรื่องเหล่านี้ก็เหมือนยิ่งยุ ยิ่งพยายามบอกไม่ให้ทำ สูบบุหรี่แล้วจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าไปเที่ยวแล้วจะเสียคนใจแตกอะไรวุ่นวาย อย่างที่เราเทศนาสั่งสอนกันอยู่ทุกวันนี้ อะไรเกิดขึ้นบ้างได้ผลไหม? ไม่ได้ผล นอกจากไม่ได้ผลแล้วเด็กยัง frustrate (คับข้องใจ) ในเรื่องนี้และก็พยายามจะสร้างสมดุลลบ frustration ลงด้วยวิธีอื่น อยากเป็นตัวเองก็ไม่ได้เป็น เพราะฉะนั้นต้องตื้อเข้าใส่ อยากจะเป็นให้ได้ต้องแอบไปลองทำ เขาไม่ได้ลองต่อหน้า ก็ต้องแอบลอง แอบลองหนักๆ เข้าผลที่ได้เขาก็ต้องติดสิ่งเหล่านั้นไป หรือเคยชินกับสิ่งเหล่านั้นไป ซึ่งก็ได้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนายิ่งขึ้นโดยเฉพาะชีวิตเราก็เปลี่ยนไปแยะ การหาประสบการณ์ด้วยตัวเองถ้าจะเทียบกันแล้วในชีวิตยุคก่อน เด็กของเราก็เรียนจากครอบครัว เรียนทำไร่ ไถนา เรียนกินอยู่หลับนอนจากครอบครัว เกือบจะเรียกว่าทั้งหมด เพราะสถาบันนอกบ้านยังไม่พัฒนา ยังไม่มีโรงเรียนจะไป ยังไม่มีอะไรที่น่าเย้ายวนในสังคมรอบๆ นั้น ในยุคนี้เราส่งเด็กของเราไปโรงเรียนตั้งแต่ 3 1/2 ขวบ เราย้ำในความสำคัญของสถาบันนอกบ้าน เด็กจะเรียนวิชามากขึ้น เด็กจะใช้เวลาในบ้านน้อยลงเพราะฉะนั้นศรัทธา และความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก ต้องทราบอะไรที่พ่อแม่สอนด้วยวาจา ก็เลยไม่มีตัวอย่างประกอบก็ยิ่งไม่ทำให้เกิดศรัทธา ชีวิตความเป็นอยู่ที่เปลี่ยน เราลดความสำคัญของสถาบันบ้านลง เราไปเพิ่มความสำคัญให้สถาบันนอกบ้าน เสร็จแล้วเขากลับไปหาประสบการณ์ หรือจากสถาบันนอกบ้านให้มากๆ สถาบันขึ้นและลึกซึ้งขึ้น เรากลับขัดขวาง หรือเรากลับสกัดกั้นไว้ ผลสุดท้ายก็คือการมีโทสะโกรธ เพราะว่าการห้ามนั้น ไม่ได้ทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่อย่างที่เขาอยากจะเป็น หรือพูดง่ายๆ ว่าเราไม่เห็นเขาโต เราไม่ปล่อยให้เขาโตเพราะฉะนั้น เขาจึงต้องแสดงออก การอยากเที่ยวนอกบ้าน ทำอะไรนอกบ้าน ก็เลยมีความหมายเป็นสองแง่ขึ้นมา หนึ่งเพื่อให้ได้ใหญ่จริง สองเพื่อจะได้ท้าทายหรือเพื่อจะแสดงความก้าวร้าวโกรธตอบพ่อแม่เลยยิ่งไปลึกยิ่งขึ้น แล้วในที่สุดเขาก็หลุดไปสู่สังคมนอกบ้านที่เราไม่พึงปรารถนายิ่งขึ้น อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาเด็กวัยรุ่นที่มีพ่อแม่ไม่ยอมรับความต้องการอันนี้ ก็คือปัญหาความประพฤติเสื่อมเสียเกเร เกะกะเที่ยวนอกบ้าน เที่ยวคลับ เที่ยวเหลาอะไรกันวุ่นวายไป นี่เป็นหัวข้อที่สองที่เราจะมาใคร่ครวญว่าเราจะทำอย่างไรกับความต้องการอันนี้ของเด็กยุคปัจจุบัน สังคมนอกบ้านเป็นสังคมซึ่งไม่มีขอบเขต ความเคร่งครัดในเรื่องจำกัดสิทธิของเด็ก สถาบันต่างๆ หรือสถานที่ต่างๆ ที่เด็กไม่ควรเข้าไป เราก็มิได้วางกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ให้ดี ฉะนั้นโอกาสที่เราจะเสียเด็กของเราไปก็มีมากขึ้น เรื่องที่ 3 เรื่องท่าทีที่ปฏิเสธ Against of rebel authority ของเด็กอันนี้ก็เป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ปกครองหรือพ่อแม่ ที่อยู่กับวัฒนธรรมเดิมคือ ลัทธิผู้ใหญ่เป็นใหญ่ เด็กไม่มีสิทธิโต้เถียงขัดแย้งหรือที่เราเรียกว่า Authoritarian style เด็กเองอยากเป็นเสรีแก่คน เพราะฉะนั้นเขาจึงแสดงความเป็นเสรีแก่ตนเองออกมา รูปหนึ่งคือรูปต่อต้าน หรือต้านกฎเกณฑ์ข้อบังคับของผู้บังคับบัญชาเราเห็นได้เสมอ ตัวอย่างเช่น โต้แย้งคำสอนของพ่อแม่ คำสอนอะไรก็มักเอามาวิจารณ์ล้อเลียน หรือทำเฉียดๆ กฎเกณฑ์ เคยกลับบ้าน 3 โมงจะกลับ 5 โมง เป็นการลองใจหรือเป็นการท้าทายผู้ใหญ่ว่า ผู้ใหญ่จะให้เขาใหญ่สักแค่ไหน ผู้ใหญ่จะเปิดโอกาสให้เขาเป็นตัวของตัวเองแค่ไหน ผู้ใหญ่ในวัฒนธรรมเดิมของไทยก็เป็น Authoritarian style มักจะใช้วิธีบังคับเขาหรือรุนแรง หนักเข้าก็เป็นการใช้วินัยอย่างรุนแรงหรือเราเรียกว่า Primitive (ป่าเถื่อน) 2 ลักษณะนี้บวกกันทำให้เด็ก aggressive ยิ่งขึ้น ก้าวร้าวยิ่งขึ้น หรือผู้ใหญ่รุนแรงเอาจริงๆ ก็เลยถอยหนีไป withdraw หรือถอยหนีเขาไปเป็นคนมีบุคลิกภาพ แบบ schizoid หรือ shut in เก็บตัวไปเลยเท่ากับบอกเด็กว่า การต่อต้านไม่ให้ไปไหนมาไหนนอกบ้าน ไม่ให้ไปหาประสบการณ์ด้วยตัวเอง เท่ากับบอกเด็กว่าผู้ใหญ่ไม่นิยมสังคม เพราะฉะนั้นกิจกรรมทางด้านสังคม หรือ socialization ของเด็กก็ถูกสกัดกั้น ก็เป็นการวางรากฐานของ schizoid personality ต่อไป หรืออย่างน้อยการขัดแย้งกันในเรื่องนี้ ก็ทำให้เด็กมีปัญหามาที่ศูนย์สุขวิทยามากมาย นับตั้งแต่ปวดศีรษะที่เราเรียกว่า tension headache หงุดหงิดก้าวร้าวกับพี่น้องหรือพ่อแม่ เพราะความกดดันหรือที่เราเรียกว่า Internal Tension หัวข้อที่ 4 ความพยายามหรือความต้องการที่จะหาศูนย์กลาง หรือศูนย์ถ่วงระหว่างความก้าวร้าว และความอยากสมยอมระหว่าง Aggression (ความก้าวร้าว) และ Submission (ความสมยอม) ในวัฒนธรรมไทยเรานั้น นิยมเด็กที่สมยอม หรือ Submissiveness เรานิยม Conforming (เด็กที่อยู่ในโอวาท) แต่เราไม่ชอบเด็กที่ก้าวร้าว ซึ่งเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมตะวันตกก็จะเห็นลักษณะอันนี้ของคนไทยเราชัดเจนขึ้น เด็กไทยจึงถูกอบรมมาให้มีการหักห้ามในเรื่องการก้าวร้าวนี้ สูงอยู่ตลอดเวลาแต่พอมาถึงวัยรุ่น ความรู้สึกไม่อยากสมยอมหรือความรู้สึกอยากจะเป็นตัวของตัวเองทำให้ความเชื่อฟัง ความอยากอยู่ในโอวาทลดลง เพราะฉะนั้นความก้าวร้าวก็ตื่นตัวมากขึ้น ถ้าไปเจอเอาผู้ใหญ่ที่ก้าวร้าว รุนแรงกว่า ก็ย่อมจะทำให้เด็กของเรานั้น "ฝ่อ" ไป หรือ Constricted หรือเหี่ยวไปเลยกลายเป็นคนที่สมยอม ไม่กล้าขัดแย้ง ไม่กล้าปฏิเสธอะไรต่างๆ การรู้จักรับ และรู้จักปฏิเสธ คือ How to say Yes หรือ How to say No นี่ก็เป็นพัฒนาการของเด็กวัยรุ่นอันหนึ่งเหมือนกันที่จะเรียนรู้จักสิ่งเหล่านี้ ถ้าถูกอบรมมาให้รู้จักหัดแต่ Say Yes ก็มีความกังวล หรือร้อนใจอย่างยิ่งก็เบื่อหน่ายจะต้อง Say No และนี้ก็คือจุดที่จะหลักดันเด็กของเราให้ไปสู่กลุ่มเพื่อนที่ไม่ดีเพราะไม่รู้ว่าควรจะ Say No เมื่อไหร่ และไม่กล้าทั้งๆ ที่บางทีก็รู้ แต่ไม่กล้าที่จะ Say No เราจึงได้เด็กที่ใจแตกไปตามเพื่อนหรือถูกเพื่อนชักจูง เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงควรที่จะได้ปลูกฝังตั้งแต่เล็กเพื่อเด็กจะได้รู้จักตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเมื่อไหร่จะ Say Yes และเมื่อไหร่ควรจะ Say No เมื่อไหร่ควรจะก้าวร้าว และเมื่อไหร่ควรจะยอม ถ้าเราเลี้ยงเด็กด้วยวิธีเดิม เราก็ไม่อาจจะตามไปให้คำแนะนำให้เมื่อเขาถึงวัยรุ่น เพราะชีวิตเขาหลุดออกไปนอกบ้านเราก็ตามเขาไม่ได้ แต่ชีวิตยุคก่อนทุกอย่างอยู่ในบ้าน ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งคนหนุ่มสาว แต่งงานแล้วก็ยังอยู่ในบ้าน อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ได้ตลอดเวลา แต่ยุคปัจจุบันพ่อแม่จะให้คำแนะนำเขาไม่ได้ถ้าเราไม่ฝึกให้เขา Say Yes หรือ Say No เป็นตั้งแต่เล็ก เขาจะอยู่อย่างไรในสังคมปัจจุบัน หัวข้อที่ 5 คือความสนใจในเรื่องการเพศ และสนใจที่จะคบหาสมาคมกับเพื่อนต่างเพศ ในวัฒนธรรมเดิมเรานั้น Sex เป็น Taboo หรือการเพศนี้เป็นของต้องห้าม พูดไม่ได้ ถามไม่ได้ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งต้องไม่ให้รู้ไม่ให้เห็นในสิ่งเหล่านี้เลย เราเติบโตขึ้นมาในวัฒนธรรมที่เคร่งครัดเหล่านี้ถึงขนาดที่เราเรียกว่า คลุมถุงชน แต่เราก็อยู่อย่างนั้นไม่ได้เราต้องเปลี่ยน ในชั่วระยะ Generation เดียว (ชั่วอายุเดียว) เราก็ต้องเปลี่ยนจากสภาพคลุมถุงชนมาเป็นเด็กไทยยุคปัจจุบันที่ลุกขึ้นเรียกร้องว่า ฉันจะเลือกคู่เอง ไม่ยอมให้พ่อแม่เลือกคู่ Questionaire (แบบสอบถาม) ที่เราทำกับนักศึกษามหาวิทยาลัย ปีที่ 1 จำนวน 2,000 คน ร้อยทั้งร้อยบอกว่าจะเลือกคู่เอง ถ้าเขาจะต้องเลือกคู่เอง แล้วเขาถูกเลี้ยงอย่างเก็บไม่ให้คบกับเพศตรงข้าม เขาจะรู้จักเลือกได้อย่างไร จะเก็บเขาได้ไหม ให้เขาห่างไกลจากเพื่อนเพศตรงข้าม ในเมื่อเราส่งเขาออกจากบ้านไปโรงเรียนอนุบาล ตั้งแต่ 3 1/2 ปี เขาคลุกคลีตีโมงกับเพื่อนเพศตรงข้าม มาตั้งแต่ 3 ปี แล้วพอมาถึงวัยรุ่น เราก็จะบอกเขาว่า ต้องเลิกคบกับเพื่อนต่างเพศ ใครมีเพื่อนต่างเพศคนๆ นั้นเป็นเด็กผู้หญิงใจแตก หรือเด็กผู้ชายใจแตก มันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คำพูดที่ผู้ใหญ่ไทยเราพูดว่าเด็ก เมื่อใดที่เขามีเพื่อนเพศตรงข้าม ก็ว่าเขาจะเสียคน พอเขาถึงวัยรุ่นผู้ใหญ่ไทยทั้งหลายกลัวเหลือเกิน กลัวจะเสียคน ในเรื่องทางเพศนี้ และคำว่าเสียคนนี้ก็เป็น Term ที่ผู้ใหญ่เท่านั้นรู้กัน ไม่ว่าเด็กจะกลับบ้านเย็นหรือไปเที่ยวนอกบ้าน ก็ว่านี่จะเสียคน ใช้สตางค์เปลือง-เที่ยวกลางคืน-นั่งกินกาแฟร้านปากตรอก-ไปเที่ยวเดินฉาย เย็นๆ ค่ำๆ ก็เสียคน แต่ไม่รู้ว่าเสียคนนี่แปลว่าอะไร เด็กๆ วัยรุ่นที่มาหาดิฉันหลายคนร้องไห้ คำก็เสียคน สองคำก็เสียคน หนูเสียยังไง หนูเดินเล่นกับเพื่อนหน้าปากตรอกหน่อย ผู้คนก็เยอะแยะ ไฟก็สว่างไสว หนูก็ไม่ได้จับมือถือแขน แม่ก็ว่าจะเสียคนหนูไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร เด็กไม่เข้าใจ คำว่าเสียคน เมื่อไม่รู้ว่าอะไรก็โกรธ คำว่าเสียคนนี่แปลว่าอะไร เสียอย่างไงไม่เคยพูดกันเลย เพราะฉะนั้นเด็กของเราก็ท้าทายคำว่าเสียคน ไหนๆ เขาว่าเสียก็ลองเสียมันดูจริงๆ เสียเลยจริงๆ อะไรมันจะเกิดขึ้น เราก็ได้ปัญหาเด็กชิงสุกก่อนห่าม อย่างที่เรากลัวนั่นแหละมากขึ้นทุกวันนี้ เพราะไม่เคยได้ความกระจ่างแจ้ง แม้แต่ศัพท์คำว่าเสียคนนี้ ให้มันกระจ่างแจ้งกับเด็กว่า ผู้ใหญ่ว่าเสียคนเพราะอะไร ทำไมผู้ใหญ่จึงห้ามกิจกรรมเหล่านี้ เพราะฉะนั้น แม้แต่จะอธิบายคำว่าเสียคนนี้ก็อธิบายไม่ได้ พูดไม่ออกแล้วจะไปสอนเด็กในเรื่องเพศศึกษากันได้อย่างไร เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องเพศศึกษาจึงเป็นปัญหาที่ยังมืดมนอยู่มาก ในบ้านเราทุกวันนี้ เพราะพ่อแม่ไม่มีปัญญาที่จะพูดในสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะพูด จะพูดแค่ไหน พูดเมื่อไหร่ ด้วยวิธีการอย่างไร นี่เป็นข้อวิจัยที่เปิดได้อย่างกว้างขวางที่เราน่าจะรีบช่วยกันรีบตอบเสีย เราคงจะได้อยู่เป็นสุข และลูกหลานเราคงจะวางตัวได้อย่างถูกต้องในเรื่องเหล่านี้ การหักห้ามเขาในเรื่องการคบเพื่อนต่างเพศ ไม่ได้ทำให้เรื่องทางเพศนั้นถูกสกัดกั้นหรือผิดหวัง แต่เพียง Sex need แต่มัน Frustrate Independency need ของเด็กไปด้วยเมื่อมี need2 อันที่ Frustrate มันก็เป็น Motivation ( แรงผลักดัน) Double strength ที่จะผลักดันเด็กของเราให้ลุกขึ้นทำกิจกรรมทางเพศกับเพศตรงข้าม (Heterosexual) ขึ้น ไม่แต่เริ่มต้นด้วยเดินคู่ฉายโก้ว่าฉันก็มีเพื่อนชายฉายคู่กับเขาแต่มันก็จะคืบคลานขึ้นจากคู่ควงไปเป็นคู่รักแล้วก็ไปเป็นคู่ชื่นไป แล้วเราได้เด็กซึ่งชิงสุกก่อนห่ามหรือท้องไม่มีพ่อขึ้นมา เพราะมันมีแรงสองแรงดังกล่าวมาผลักดันให้ทำผลที่ได้ก็จะมีแต่เสียยิ่งกว่าได้ ประการสุดท้าย ที่อยากฝากไว้ก็คือโดยส่วนรวมแล้ว ไม่เฉพาะเด็กวัยรุ่น การเลี้ยงดูของเรามิได้มีเป้าหมายว่าให้เด็กของเราเลี้ยงตัวเองได้ หรือมีประสิทธิภาพในชีวิต คือไม่ได้เลี้ยงให้เป็นคน Independence (พึ่งตนเอง) และไม่ได้เลี้ยงให้มีเป้าหมายว่าเป็นคนที่มี Productivity แต่เลี้ยงมาเพื่อที่จะอยู่กันเป็นกลุ่มได้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ที่คำว่า ถ้าจะบำรุงสกุลวงศ์ให้รุ่งเรืองนั้นเป็น Term ที่ผลิตอยู่ในเหรียญของเรา ซึ่งสืบเนื่องมาจากสกุลขุนนาง วัฒนธรรมนี้ถูกแผ่ขยายว่า ทุกคนเอาตัวรอดไม่ได้ ทุกคนจะต้องทำให้กลุ่มอยู่รอด ผู้ที่มีความสำเร็จในชีวิต แม้จะมีศักดิ์เป็นน้องก็จะต้องโอบอุ้มเผื่อแผ่ผู้ที่เป็นพี่หรือน้องในสกุลเดียวกันให้อยู่รอด และยังจะต้องแผ่ขยายไปสนับสนุนลูกพี่หรือลูกน้องในสกุลเหล่านี้ด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นจุดถ่วงที่ทำให้คนที่แข็งแกร่งนี้ต้องอ่อนแอไปโดยปริยาย แต่วัฒนธรรมนี้ก็มีผลทั้งดีและเสีย ผลดีก็คือว่ารัฐบาลของเราหรือชุมชนของเรา ไม่ต้อง Provide (จัดหา) กิจกรรมทางสังคมสงเคราะห์มากมายนัก เพราะเราสงเคราะห์กันเอง แต่ผลเสียที่เรามองเห็นก็คือ บ้านเมืองส่วนรวมนี้เติบโตไปอย่างช้าๆ ไม่ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ทันต่อสิ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางโทรมลงหรือทรุดอย่างประเทศไทยเรานี้วัฒนธรรมนี้ก็มีทีท่าว่าจะไปไม่ตลอด อยู่ไม่รอด เพราะเราต้องโอบอุ้มคุ้มครองคนหลายๆ คน ด้วยแรงหรือกำลังของเราคนเดียว แล้วเราเห็นประจักษ์พยานแล้วว่า มีใครไม่น้อยเลยที่แหวกแนวออกมา โดยเอาตัวรอดแต่เพียงผู้เดียว เป็นเศรษฐีใจดำที่ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เราคงจะหยุดยั้งสิ่งนี้ไม่ได้ ทุกวันนี้ผู้ด้อยด้านร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินก็คอยหวังจากผู้มีมากกว่า โดยไม่ค่อยจะมีการให้และรับ ดิฉันได้ประสบการณ์ด้วยตัวเองจากครอบครัวที่มาเป็นเด็กรับใช้ในบ้านเรา อยู่กับเรามาก็ขึ้นเงินเดือนให้ทุกๆ ปี อยู่กันปีเดียวขึ้นจาก 200บาท เป็น 300บาท แม่ก็บอกว่าจะขอเอาลูกกลับบ้าน ถามว่าทำไมละ บอกว่าเงินไม่พอใช้ แล้วยังไง จะให้ฉันช่วยยังไง เขาบอกว่าคุณหมอขึ้นให้เป็น 350บาท ซิดิฉันก็บอกว่างานก็ไม่ได้มากขึ้นกลับน้อยลงเสียอีก เพราะว่าลูกก็ไปโรงเรียนหมดแล้ว และก็ขึ้นให้มาตลอด หนึ่งปีขึ้นให้ 1 ครั้งแล้ว จาก 200 เป็น 300 ก็ดูจะสมเหตุสมผล มีเหตุผลอะไรหรือที่จะให้ฉันเพิ่มเงินให้ลูกสาว คำตอบก็คือ ก็คุณหมอมีมากนี่ ไม่ใช่ว่างานมีมาก แต่กลายเป็นว่าเพราะเรามีมาก นี่คือ expectation (ความคาดหวัง) ของคนไทยที่อยู่ในสภาพที่ blind คือ expect to be given คือคิดว่าเขาจะเป็นผู้รับฝ่ายเดียว โดยไม่คิดว่าเขามีอะไรจะให้เรา นี่คือความอ่อนแอในบุคลิกภาพที่ทำให้ประเทศเรานี้พัฒนาไปช้า นี่ก็เป็นจุดสำคัญๆ 6 จุดด้วยกันในการพัฒนาเด็กวัยรุ่นของเรา เรามีอะไรในการพัฒนาเด็กวัยรุ่นของเรา เรามีอะไรที่ขัดแย้งกันในวัฒนธรรมเดิมของเราพอสมควร ถึงเวลาหรือยังที่เราจะช่วยกันทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อจะปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ เพื่อเราจะถึงเป้าให้ได้ ลูกและหลานที่แข็งแกร่งให้อยู่กับชีวิตที่ยากเย็นอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อน การแข่งขัน และการปรับตัว ถ้าเราไม่เลี้ยงเด็กของเราให้แข็งแกร่ง เราจะอยู่ได้อย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ โดยเด็กก็ไม่มีพัฒนาการหรือมี Potentiality ในการพัฒนาที่ต่ำกว่าเด็กชาติอื่น เด็กไทยมีทั้งร่างกายสมองที่แข็งแรง แต่ขาดการยุเย้าที่จะให้โต เขามี Potentiality แต่เราไม่ได้ดึงเอา Potentiality นั้นมาใช้ เราได้ทำอะไรหลายอย่างที่ทำให้ชะลอ Potentiality นั้นลงด้วยซ้ำไป ฉะนั้นเราจึงจะต้องช่วยกันพยายามหาข้อมูลต่างๆ ในการที่จะพิสูจน์สมมุติฐานต่างๆ เหล่านี้ และหาดูซิว่าจะมีวิธีใด และสิ่งที่เราได้นั้น เราจะได้นำมาเผยแพร่ให้กับพ่อแม่รุ่นหลังๆ หรือรุ่นต่อจากเราไป หรือรุ่นเรานี่เองได้ทราบ เพราะฉะนั้นงานอบรมพ่อแม่หรือที่เรียกว่า โรงเรียนสำหรับพ่อแม่ Mother school หรือ parental school จึงเป็นเป้าหมายอันหนึ่งที่เราจะต้องทำ การศึกษาผู้ใหญ่ ตลอดจนในวงการจิตเวช จะต้องให้การศึกษาญาติคนไข้ คนไข้เด็กก็ต้องให้การศึกษาพ่อแม่ งาน Mother class (ชั้นเรียนสำหรับมารดา) หรืองาน Mother school (โรงเรียนสำหรับแม่) นี้ยังเป็นกิจกรรมระดับทารกในบ้านเรา วงการจิตเวชมีอายุ 80 กว่าปี แต่เราไม่เคยดึงเอาญาติคนไข้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรา ญาติคนไข้ที่เคยพาคนไข้มาส่งก็ยังไม่วายที่จะกลัวโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นจะไปหวังอะไรให้ญาติคนไข้เข้าใจถึงที่มา หรือต้นตอของการเป็นโรคจิต โรคประสาท ยิ่งถ้าเป็นวงการจิตเวชเด็กแล้วเราจะไปไม่รอด ถ้าเราไม่ทำกิจกรรมอันนี้ แต่ที่เราทำอยู่คือรักษาพ่อแม่เป็นราย เป็นเฉพาะรายซึ่งก็กินเวลากับแรงงานของพวกเราอย่างมากมาย กินค่าจ้างของพวกเราไปเยอะแยะทีเดียว เพราะฉะนั้น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะตั้งเป้าหมายว่างานศูนย์สุขวิทยาจิต จะต้องมีเป้าให้สำเร็วให้จงได้ Parental school นี่เป็นความหวังของพวกเราอย่างยิ่ง เป็นงานชิ้นที่จะทำให้แรงใจ แรงกาย ที่เราลงไปทุกวันนี้ถึงเป้าหมาย

Keywords: วัยรุ่น, วัฒนธรรม, สุขภาพจิต, พัฒนาการเด็กวัยรุ่น, พฤติกรรม, จิตวิทยา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2516

Address: นายแพทย์พิเศษผู้อำนวยการศูนย์สุขวิทยาจิต กรมการแพทย์และอนามัย

Code: 000000004

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทความสุขภาพจิต: วารสารวิชาการ

Download: -