ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วิวัฒน์ ยถาภูธานนท์, กำธร พริ้งศุลกะ, กวี สุวรรณกิจ

ชื่อเรื่อง/Title: ความคิดเห็นของแพทย์เกี่ยวกับการผสมผสานยาจิตเวชเข้ากับบริการการแพทย์ฝ่ายกาย.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 25, ฉบับที่ 1 มกราคม 2523, หน้า 81-86.

รายละเอียด / Details:

ในโครงการพัฒนาสาธารณสุขตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-พ.ศ. 2524) โครงการสุขภาพจิตและจิตเวชได้กำหนดไว้ลำดับที่ 13 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกองสุขภาพจิต กรมการแพทย์ วัตถุประสงค์ข้อหนึ่งของโครงการนี้คือขยายบริการให้เข้าถึงประชาชนในส่วนภูมิภาค โดยผสมผสานบริการสุขภาพจิตเข้ากับการบริการสาธารณสุขปีละประมาณ ร้อยละ 10 ของบริการสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเพื่อให้บรรลุถึงผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีข้อหนึ่งในวิธีการดำเนินการ คือการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับต่ำสุดคือ เจ้าหน้าที่ประจำตำบล จนกระทั่งถึงโครงการดำเนินงานจัดสัมมนาระยะสั้นแก่แพทย์ ทางภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลประสาทสงขลา มีความคิดเห็นว่าน่าจะมีการสำรวจทัศนคติของแพทย์ที่ทำงานสาขาอื่น ว่ามีทัศนคติอย่างไรต่อการผสมผสานบริการทางจิตเวชและบริการสาธารณสุข ทั้งนี้เพื่อให้ได้ทราบถึงแนวโน้มของแพทย์สาขาอื่นในการที่จะปฏิบัติงานร่วมกับจิตแพทย์หรือเข้ามารับการอบรมทางจิตเวชระยะเวลาหนึ่ง เพื่อนำกลับไปใช้ในสถานบริการที่ตนเองสังกัดอยู่ จึงได้จัดแบบสอบถามส่งให้แก่แพทย์ในจังหวัดสงขลาให้ทั่วถึงเท่าที่จะทำได้ ซึ่งส่งให้แก่แพทย์ประจำจังหวัด โรงพยาบาลประจำอำเภอ ศูนย์การแพทย์และอนามัยมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหาร ร้าน และสถานพยาบาลเอกชนและแบบสอบถามที่ได้รับกลับคืนมาได้จำนวนพอสมควร ซึ่งพอจะรายงานและแปลผลได้ดังนี้ จำนวนแบบสอบถามที่ส่งไปทั้งหมด 90 ฉบับ ได้รับกลับมา 54 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 60 % เพื่อแบ่งเป็นเพศ พบเพศชาย 37 คน หรือ 68.5 % เพศหญิง 17 คน หรือ 31.5 % สำหรับอายุพอจะแบ่งได้ดังนี้ มีอายุระหว่าง 21-30 ปี พบ 25 ราย หรือ 46.3 % มีอายุระหว่าง 31-40 ปี พบ 12 ราย หรือ 22.2 % มีอายุมากกว่า 40 ปี พบ 17 ราย หรือ 31.5 % ลักษณะของงานประจำส่วนใหญ่เป็นการให้บริการ การให้การศึกษา ความเห็นเกี่ยวกับการบริการทางจิตเวชในโรงพยาบาลฝ่ายกายหรือความเห็นในการที่ผสมผสานงานจิตเวชกับงานรักษาทางกาย ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยทั้งหมดและคิดว่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไข้ ลักษณะของการร่วมมือ แบบสอบถามถึงการที่จะมี หอผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลฝ่ายกาย หรือเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ ทางจิตเวช หรือจะเป็นแต่เพียงการให้ความร่วมมือและให้การช่วยเหลือจากโรงพยาบาลทางจิตเวช ทุกแบบสอบถามเห็นด้วยทั้งหมดกับทุกรูปแบบของการร่วมมือ แต่เมื่อได้แยกลักษณะของความร่วมมือทั้ง 3 ประเภท ว่าประเภทใดชอบมากที่สุด พบว่า การมีหน่วยงานทางด้านจิตเวชสำหรับบริการคนไข้นอก และรับปรึกษาปัญหาจิตเวชสำหรับคนไข้นอกและในพบมากที่สุด โดยพบ 32 ราย หรือ 59.2 % ส่วนการให้การช่วยเหลือจากโรงพยาบาลทางจิตเวช และจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลฝ่ายกายพบเท่ากันคือ 11 ราย หรือ 20.4 % และเมื่อถามถึงเหตุผล ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าการจัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลฝ่ายกายเป็นการสิ้นเปลือง และต้องใช้บุคลากรที่ฝึกหัดแล้วจำนวนมาก ซึ่งคงไม่สามารถจัดหาได้ในภาวะปัจจุบัน ในความเห็นเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับจิตแพทย์มีอุปสรรคมากน้อยเพียงใด พบว่า คิดว่ามีอุปสรรคมาก 2 ราย หรือ 3.7 % คิดว่ามีอุปสรรคน้อย 21 ราย หรือ 38.9 % และไม่มีอุปสรรคเลย 31 ราย หรือ 54.4 % ใน 2 รายที่ตอบว่ามีอุปสรรคมาก พบว่าเป็นแพทย์ที่มีอายุเกิน 40 ปี และเป็นแพทย์ที่ทำงานทาง พรีคลินิก (Preclinic) ในการสอบถามความเห็นของแพทย์ในรายคนไข้ทางกายที่มีปัญหาทางจิตเวชและร่วมรักษากับจิตแพทย์ว่าผลการรักษาจะเป็นอย่างไร พบว่า คิดว่าอาการดีขึ้น 47 ราย หรือ 87.0 % คิดว่าอาการคงที่ 4 ราย หรือ 7.4 % คิดว่าอาการเลวลง 3 ราย หรือ 5.6 % และเมื่อถามต่อไปว่าถ้าบอกคนไข้ทางกายที่มีปัญหาทางจิตเวชว่าต้องพบจิตแพทย์ คนไข้จะมีปฏิกิริยาอย่างไร ผลที่ออกมาเป็นเรื่องที่น่าคิดพอสมควร กล่าวคือ คิดว่าคนไข้ยอมรับอย่างเต็มใจ 21 ราย หรือ 38.9 % คิดว่าคนไข้ยอมรับอย่างไม่เต็มใจ 27 ราย หรือ 50.0 % คิดว่าคนไข้ไม่ยอมรับ 4 ราย หรือ 7.4 % คิดว่าคนไข้ไม่ยอมรับและมีปฏิกิริยาที่ไม่ดีต่อแพทย์ผู้บอก 2 ราย หรือ 3.7 % ซึ่งจะเห็นได้ว่าคนไข้อาจมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นโรคทางกายซึ่งต้องให้แพทย์ทางกายรักษา โดยไม่คิดว่ามีโรคทางจิตเวชมาร่วมด้วย แต่แพทย์ส่วนใหญ่ก็ยังให้เหตุผลต่อไปว่า การยอมรับหรือไม่ยอมรับจะขึ้นอยู่กับ ก. การให้คำอธิบายของแพทย์ที่รักษาที่มีต่อคนไข้ ถ้าแพทย์ให้คำชี้แจงให้คนไข้เข้าใจถึงโรคที่เป็นอยู่ คนไข้มักจะยอมรับ ข. สถานที่ที่จะไปรับการรักษา ถ้าเป็นสถานที่ที่นั้นเอง โดยมีจิตแพทย์จากโรงพยาบาลทางจิตเวชไปให้การรักษาคนไข้ก็จะยอมรับด้วยความพอใจ แต่ถ้าบอกคนไข้ให้ไปโรงพยาบาลทางจิตเวชคนไข้จะออกไปในทางยอมรับอย่างไม่เต็มใจ หรือไม่ยอมรับ และมีปฏิกิริยาที่ไม่ดีต่อแพทย์ผู้บอก ในแง่ของความเชื่อมั่นของแพทย์ในการที่จะให้การรักษาต่อคนไข้ คณะผู้จัดทำได้ตั้งคำถามออกเป็น 2 รูปแบบ โดยแบบแรกเป็นการถามว่าถ้าพบคนไข้จิตเวชฉุกเฉินเช่นคนไข้ฆ่าตัวตาย หรือคนไข้โรคจิตที่มีอาการรุนแรง พบว่า จะให้การรักษาเอง 11 ราย หรือ 20.3 % ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 19 ราย หรือ 35.2 % และส่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 24 ราย หรือ 44.4 % ในรายที่บอกว่าจะให้การรักษาเองและปรึกษาพบมากในแพทย์ที่จบใหม่ และเหตุผลหนึ่งคือสถานที่ที่ให้บริการอยู่ไกลจากโรงพยาบาลจิตเวชหรือได้รับคำขอร้องซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แบบที่สองถามว่าถ้าญาติพี่น้องมีปัญหาทางจิตเวช ถ้าเป็นชนิดรุนแรงท่านจะรักษาเองหรือปรึกษาจิตแพทย์ พบว่าจะปรึกษาจิตแพทย์ทั้งหมด และถ้าเป็นชนิดไม่รุนแรง พบว่าจะรักษาเอง 29 ราย (53.7 %) และจะปรึกษาจิตแพทย์ 25 ราย (46.3 %) เหตุผลของการที่จะรักษาเองก็เพราะมักจะเป็นญาติมาขอความช่วยเหลือ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และบอกว่าจะรักษาดูระยะหนึ่งก่อน เมื่อเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้นจึงจะมาปรึกษากับจิตแพทย์ ในเรื่องของการให้การศึกษาทางจิตเวชเพิ่มเติม พบว่า ยินดีร่วมการศึกษา 40 ราย (74.1 %) ไม่ยินดีมาร่วมการศึกษา 14 ราย (25.9 %) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่แพทย์ส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการที่จะมีความรู้เพิ่มเติม สำหรับใน 14 ราย ที่ไม่ร่วมการอบรม เราได้ถามถึงเหตุผลว่ามีอะไรที่จะชักจูง เช่น เงินเพิ่มพิเศษ หรือความก้าวหน้าทางราชการ หรืออนุมัติบัตร ซึ่งทั้ง 14 ราย ตอบว่า ไม่มี และใน 14 รายนี้ พบว่าเป็นแพทย์อาวุโส หรือเป็นแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่งแล้วทั้งสิ้น ในพวกที่ยินดีร่วมการอบรม เราได้ถามต่อไปถึงระยะเวลาที่จะอบรม ควรจะใช้เวลานานเท่าไร ใน 40 ราย พบว่า 31 ราย หรือ 77.5 % ขออบรมในระยะเวลา 1-3 เดือน , 3 ราย หรือ 7.5 % ขออบรมในระยะ 3-6 เดือน ไม่มีรายไหนเลยที่ขออบรมมากกว่า 6 เดือน พบ 6 ราย (15 %) ตอบมาโดยที่ไม่มีคำถามในแบบสอบถาม โดยขออบรม 2 อาทิตย์ ซึ่งคณะผู้จัดทำคิดว่าเป็นข้อบกพร่องที่ไม่ได้ใส่ข้อต่ำกว่า 1 เดือน โดยมาคิดว่าการอบรมที่มีประโยชน์ควรจะอบรมนานกว่า 1 เดือน และลืมนึกถึงเวลาที่ผู้อบรมจะเสียสละมาได้ คณะผู้จัดทำคิดว่าถ้ามีช่องต่ำกว่า 1 เดือนอยู่ คงจะได้คำตอบในช่องนี้มาก มี 1 ราย ที่ทำงานร้านส่วนตัว ตอบยินดีที่จะร่วมอบรมในระยะเวลา 1-3 เดือน แต่ขอเวลาอบรมในช่วงเวลากลางคืนเมื่อเสร็จจากการทำร้านแล้ว เมื่อถามถึงการอบรมบุคลากรนอกเหนือจากแพทย์ พบว่า ควรให้การอบรม 52 ราย (96.3 %) และไม่ควรให้การอบรม 2 ราย (3.7 %) ซึ่งไม่ได้ให้เหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรให้การอบรม คณะผู้จัดทำมีความคิดว่าในการผสมผสานงานสุขภาพจิตเข้าไปในงานประจำที่แพทย์ได้ทำอยู่แล้วเป็นการเพิ่มภาระอย่างมาก แต่ก็ยังทราบความคิดเห็นว่าถ้าเมื่อแพทย์ได้รับมอบหมายงานทางจิตเวชเพิ่มขึ้นอีก แพทย์จะตอบสนองอย่างไร ยินดียอมรับ 22 ราย หรือ 40.7 % ยินดียอมรับแต่ต้องลดงานประจำลง 13 ราย หรือ 24.1 %ไม่ยินดียอมรับ 15 หรือ 27.8 % มี 4 ราย (7.4 %) ตอบไม่ได้เพราะทำร้านส่วนตัว จะเห็นว่ายินดียอมรับถึง 40.7 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าชื่นชมพอสมควร และในรายที่ยอมรับ แต่ต้องลดงานประจำด้านอื่น พบ 24.1 ในคำถามจริง ๆ คณะผู้จัดทำได้ใส่ด้วยว่ามีสิ่งตอบแทนด้านอื่นอีกด้วย แต่แพทย์ผู้ตอบได้ฆ่าประโยคนี้ออกไป ซึ่งถ้าจะแปรผลจะเห็นว่ามีจิตใจรักทางจิตเวชพอสมควรและยินดีที่จะเสียสละเพื่องานนี้โดยไม่คำนึงถึงค่าตอบแทน ในรายที่ไม่ยินดีตอบรับ ซึ่งพบ 27.8 % นั้นเราพบว่าเป็นแพทย์ที่อาวุโส หรือเป็นเป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญสาขาใดสาขาหนึ่งแล้ว ส่วนคำถามสุดท้ายเป็นคำถามสรุปว่ามีความเห็นด้วยหรือไม่ในการที่จะผสมผสานงานสุขภาพจิตและงานจิตเวชกับการรักษากับการรักษาทางกาย พบว่าทุกคนเห็นด้วย ซึ่งพอจะแปลผลว่าแพทย์มีความเข้าใจว่าในการรักษาคนไข้นั้นจะรักษาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จะต้องรักษาทั้งกายและใจไปพร้อม ๆ กัน

Keywords: จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, บริการ, แพทย์, ยาจิตเวช, ปัญหาทางจิตเวช, สุขภาพจิต, งานสุขภาพจิต, บริการสุขภาพจิต, บริการทางจิตเวช, psychiatry, service

ปีที่เผยแพร่/Year: 2523

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 100232401277

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format