ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จำลอง ดิษยวณิช, พริ้มเพรา ดิษยวนิช

ชื่อเรื่อง/Title: โรคจิตที่เกิดจากการฝึกสมาธิ.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 มีนาคม 2527, หน้า 1-12

รายละเอียด / Details:

รายงานนี้ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการฝึกสมาธิ กับความแปรปรวนทางจิตใจผู้ป่วยทั้งหมด 8 ราย มีประวัติของการฝึกสมาธิแบบพุทธก่อน หรือตอนที่เกิดมีอาการของโรคจิต 7 คนเป็นผู้ชาย ส่วนอีกหนึ่งคนเป็นผู้หญิงในจำนวนนี้มี พระ 3 รูป และสามเณร 1 องค์ ผู้ป่วยที่เหลือยังเป็นโสดอยู่ ทุกคนมีอาการของโรคจิต ซึ่งเข้าได้กับโรคจิตเภท (Schizophrenia) จากการศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคจิตขณะฝึกสมาธิ พบว่ามีปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความวิปริตทางจิตใจ ดังนี้ 1. การขาดความเข้าใจอย่างถูกต้องในการฝึกสมาธิ 2. การถดถอยทางจิตใจ 3. การมีความขัดแย้งอยู่ก่อนแล้ว 4. การเกิดความคิดว่าตนมีอำนาจหรือยิ่งใหญ่ 5. บุคลิกภาพก่อนเกิดอาการที่ผิดปกติ 6. การขาดอาจารย์สอนสมาธิที่สามารถ 7. การขาดสิ่งเร้า นักจิตบำบัดส่วนมากรวมทั้งผู้เขียน ต่างมีความเห็นต้องกันว่า สมาธิมิใช่สิ่งที่จะเอามาใช้แทนจิตบำบัด และไม่สามารถจะนำมาใช้ได้ผลสำหรับผู้ป่วยทุกราย ปัจจุบันหลายท่านได้นำเอาการฝึกสมาธิมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคประสาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดวิตกกังวล และผู้ป่วยที่เป็นจิตสรีระพาธ (Psychophysiologic disorders) สมาธิไม่ควรนำเอามาใช้อย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคจิตหรือผู้ที่มีความแปรปรวนทางจิตอย่างรุนแรง ผู้ป่วยที่ใช้สมาธิช่วยในการรักษาความผิดปกติทางจิตใจ ควรอยู่ในความดูแลของนักจิตบำบัดผู้มีประสบการณ์และความรู้ในเรื่องการฝึกสมาธิเป็นอย่างดี ผู้ที่ไม่มีความเข้าใจอย่างเพียงพอในจิตพยาธิวิทยาและความขัดแย้งภายในจิตใจไม่ควรแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกสมาธิ ถึงแม้ตนเองจะมีความรู้และความชำนาญในเรื่องนี้อย่างมากก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าปัญหาหรือความกดดันต่าง ๆ อาจถูกปลดปล่อยออกมาอย่างพรั่งพรู และท่วมท้นจนผู้ป่วยไม่สามารถจัดการอะไรได้ นิมิตที่เกิดขึ้นมักเป็นอาการหลงผิด ประสาทหลอน ประสาทลวง หรือความเพ้อฝันเหมือนอย่างที่พบในผู้ป่วยโรคจิต ดังนั้นการใช้สมาธิในกรณีที่ไม่สมควรแทนที่จะเป็นคุณกลับก่อให้เกิดโทษอย่างมหันต์ได้

Keywords: การฝึกสมาธิ, โรคจิตเวช, จิตเภท, โรคจิตเภท, schizophrenia, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรคจิต, สมาธิ, พุทธ, โรคจิตที่เกิดจากการฝึกสมาธิ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2527

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Code: 100272901088

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format 2.92MB