ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปกรณ์ ศิริยง

ชื่อเรื่อง/Title: การติดยาและสารเสพติดในประเทศไทย: จากเฮโรอีนสู่ยาบ้า

แหล่งที่มา/Source: วารสารกรมการแพทย์, ปีที่ 27, ฉบับที่ 3, มีนาคม 2545, หน้า 124-130.

รายละเอียด / Details:

ปัญหาการติดยาและสารเสพติดในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการติดยาบ้าใน 3-4 ปีที่ผ่านมา รายงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสถานการณ์การติดยาที่เปลี่ยนแปลงไป โดยทำการเก็บข้อมูลจากรายงานของสถานบำบัดรักษายาเสพติดทั่วประเทศไทย และผลการบำบัดรักษาการติดยาและสารเสพติดของโรงพยาบาลธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ในระหว่างปี พ.ศ. 2539-2543 เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและวางแผนในการให้การบำบัดต่อไป ผลการศึกษาพบว่าจำนวนผู้ติดยาทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 82,620 ราย (158 ศูนย์)์ ในปี พ.ศ. 2536 เป็น 100,670 ราย (188 ศูนย์)์ ในปี พ.ศ. 2538 ในปี พ.ศ. 2543 จำนวนผู้เข้ารับการบำบัดลดลงเหลือ 67,155 ราย ใน (401ศูนย์). มากกว่าร้อยละ 94 ของผู้ติดยาเป็นผู้ชาย ในแต่ละปีอายุเฉลี่ยลดลงจาก 30.2+-13.5 ปี เป็น 28.4+-10.6 ปี ผู้ติดยาส่วนมากมีอาชีพรับจ้างหรือไม่มีงานทำ นักเรียนติดยาเสพติดมากขึ้นทุกปี จากร้อยละ 4.4 เป็นร้อยละ 15.0, 14.9 และ ร้อยละ 14.1 ใน 3 ปี สุดท้าย ตามลำดับ ในด้านระดับการศึกษาของผู้ติดยาพบว่าสูงขึ้นเช่นกัน ใน 3 ปีแรกของการศึกษาพบผู้ติดเฮโรอีนประมาณร้อยละ 86.5-90.4 และลดลงเหลือร้อยละ 52.2 ในปีสุดท้ายของการศึกษา ในขณะที่ผู้เสพติดยาบ้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในปี พ.ศ. 2539 เป็นร้อยละ 3.3 ในปี พ.ศ. 2543 ผลการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ปัจจุบันพบว่าผู้ติดยาเข้ารับการบำบัดรักษาครบในขั้นตอนแรก ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ประมาณร้อยละ 30.9-39.6 แต่มีผู้ติดยาเพียงร้อยละ 0.8 ถึงร้อยละ 5.4 ที่อยู่บำบัดจนถึงขั้นตอนสุดท้ายในชุมชนบำบัด พบอัตราตายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ต่อ 1,000 ในปี พ.ศ. 2539 เป็นร้อยละ 5.2 ต่อ 1,000 ในปี พ.ศ. 2543 โดยเป็นผู้ติดยาที่ติดเชื้อเอดส์มากกว่าผู้ไม่ติดเชื้อ และพบว่าการติดเชื้อเอดส์นั้นพบในผู้เสพติดรายเก่าที่ติดเฮโรอีนโดยการฉีด (ร้อยละ 35) มากกว่าผู้ติดยารายใหม่ซึ่งติดยาบ้า (ร้อยละ 7) ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ปัจจุบันการเสพเฮโรอีนมีแนวโน้มที่จะลดลงในขณะที่ยาบ้ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและกลุ่มอายุที่ใช้ยาเสพติดครั้งแรกก็มีอายุน้อยลง และมีแนวโน้มที่จะเกิดในกลุ่มนักเรียน การเสพเฮโรอีนที่ลดน้อยลงทำให้การตรวจพบการติดเชื้อเอดส์ในผู้ติดยาเสพติดลดน้อยลง การแก้ไขปัญหาการติดยาเสพติดที่เร่งด่วน จึงควรเน้นไปที่ประชาชนกลุ่มวัยรุ่นที่เสพยาบ้า และควรพิจารณาหาวิธีบำบัดรักษาที่เหมาะสมกับชนิดของยาเสพติดและกลุ่มผู้เสพ

Keywords: ยาเสพติด, สารเสพติด, เฮโรอีน, ยาบ้า, ระบาดวิทยา, สถานการณ์ยาเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: โรงพยาบาลธัญญารักษ์ กรมการแพทย์

Code: 0000000040

ISSN/ISBN: 0125-1643

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -