ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุขสมัย สมพงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: ประสิทธิผลของโปรแกรมการเลิกบุหรี่ สำหรับผู้ใช้สารเสพติดที่แสดงตน จังหวัดสกลนคร (ระยะที่ 1)

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข (12-15 สิงหาคม 2546 จังหวัดชลบุรี). หน้า 12.

รายละเอียด / Details:

ในช่วงเวลาที่รัฐบาลเร่งรัดการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด จังหวัดสกลนครมีผู้ใช้ยาเสพติดออกมาแสดงตน 3,470 คน ได้คัดกรองเพื่อจำแนกการบำบัดเป็นจิตสังคมบำบัด 244 คน ให้คำปรึกษา 313 คน และค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 2,913 คน มีผู้สูบบุหรี่เกินกว่าร้อยละ 90 จึงเพิ่มกระบวนการเลิกบุหรี่ไว้ในค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลักสูตร 10 วัน 9 คืน ประกอบด้วย ก. โปรแกรมปกติ ได้แก่ การให้ความรู้เรื่องโทษและพิษภัยของบุหรี่ น้ำดื่มสมุนไพร การทำความสะอาดช่องปาก การจำกัดเขตสูบบุหรี่ การขอให้เลิกบุหรี่ โดยพระภิกษุ/ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น ข. เป็นโปรแกรมเสริมพลังให้ผู้รับการฝึกตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ก่อนเสร็จสิ้นการฝึกอบรมให้ประจักษ์ต่อประชาคม แสดงถึงความตั้งใจจริงในการเลิกใช้สารเสพติด สร้างความน่าเชื่อถือให้สังคมยอมรับมี 3 ขั้นตอน คือ ปูพื้นฐาน ตระหนักในทุกข์ และบอกกล่าวการปฏิบัติ ทำการศึกษาลักษณะกึ่งทดลองจากค่ายทั้งหมด วัดประสิทธิผลของโปรแกรมการเลิกสูบบุหรี่รวมโดยเปรียบเทียบจำนวนผู้สูบบุหรี่ก่อนและหลังการอบรม ส่วนประสิทธิผลของโปรแกรมพิเศษเปรียบเทียบจำนวนผู้สูบบุหรี่ก่อนให้โปรแกรมกับภายหลังจากให้โปรแกรมไปแล้ว 1 วัน และวันต่อๆ ไป โดยใช้สถิติ ไค-สแควร์ที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 95 ผลการศึกษาจำนวน 36 ค่าย ผู้เข้ารับการฝึก 2,432 คน เป็นผู้ใช้ยาบ้า กัญชา หรือสารระเหยชนิดเดียวร้อยละ 39.4, 29.0 และ 7.3 ตามลำดับ เป็นผู้ใช้ยาบ้า กัญชา หรือสารระเหยร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่นร้อยละ 14.3, 5.1 และ 3.6 ตามลำดับ เป็นผู้เสพร้อยละ 80.8 ผู้ติดร้อยละ 17.0 อ้างว่าเลิกใช้สารเสพติดเกินกว่า 1 ปี ร้อยละ 45.0 ผู้เข้ารับการฝึก 2,411 คน ก่อนเข้ารับการฝึกสูบบุหรี่ 2,228 คน (ร้อยละ 92.4) เสร็จสิ้นการฝึกคงสูบบุหรี่ 982 คน (ร้อยละ 40.7) ผู้สูบบุหรี่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 34 ค่าย การศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมพิเศษ จำนวน 20 ค่าย มีผู้สูบบุหรี่ก่อนดำเนินการ 960 คน ไม่สูบบุหรี่ 326 คน ภายหลังการใช้โปรแกรม 1 วัน มีผู้สูบบุหรี่ 708 คน ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จำนวนค่ายที่มีผู้สูบบุหรี่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพียง 8 ค่ายเท่านั้น แต่จำนวนค่ายที่มีผู้สูบบุหรี่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มขึ้นในวันถัดไปเป็น 10,14,17 และ 19 ตามลำดับ โปรแกรมพิเศษเน้นการกู้ศักดิ์ศรีของผู้ใช้สารเสพติดทำให้การเลิกบุหรี่มีประสิทธิผลดีขึ้น ควรให้ภายหลังการเตรียมผู้เข้าร่วมการฝึก 3-5 วัน และวิทยากรค่ายต้องกระตุ้นเพิ่มเติมหลังการให้โปรแกรม 1-2 วัน เพื่อให้เลิกบุหรี่ได้อย่างน้อย 5 วันในขณะที่อยู่ในค่าย ควรเพิ่มการปรับมาตรฐานผู้ทำหน้าที่ติดตามผลการบำบัด เพื่อให้คงสภาพการไม่สูบบุหรี่ไว้

Keywords: โปรแกรมการเลิกบุหรี่, ยาเสพติด, สารเสพติด, จิตสังคมบำบัด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสกลนคร

Code: 000000045

ISSN/ISBN: 974-9627-39-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546

Download: -