ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิชัย มงคลและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ระบาดวิทยาของการทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตาย

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข (12-15 สิงหาคม 2546 จังหวัดชลบุรี). หน้า 25.

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้ในการประเมินผลและวางแผนการดำเนินการ วัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของภาวการณ์ทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตาย พ.ศ. 2544 2) เพื่อศึกษาปัจจัยทางด้านประชากรที่น่าจะสัมพันธ์กับพฤติกรรมการทำร้ายตนเอง วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลัง (Retrospective community-based study) กลุ่มตัวอย่างได้แก่ 1) ผู้ที่ทำร้ายตนเองทั้งที่เสียชีวิตและไม่เสียชีวิต ในช่วง 1 มกราคม 2544-31 ธันวาคม 2544 ใน 7 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยจังหวัดระยอง เพชรบุรี เชียงราย พิจิตร ชัยภูมิ ตรัง และกระบี่ เก็บข้อมูลโดยวิธี 1) รวบรวมรายชื่อผู้ที่ทำร้ายตนเองที่มารับบริการ ณ สถานบริการทุกแห่งในจังหวัดตัวอย่าง 2) รวบรวมรายชื่อผู้ที่เสียชีวิตจากการทำร้ายตนเอง จากมรณะบัตร และรายงานการสอบสวนคดีของตำรวจ 3) สอบถามรายชื่อผู้ที่ทำร้ายตนเองจากผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย 4) ใช้แบบสัมภาษณ์ผู้ป่วยหรือญาติที่ใกล้ชิด ผลการศึกษา พบว่าอัตราการทำร้ายตนเองเท่ากับ 51.47 ต่อประชากรทั้งหมดแสนคน (95% C.I.=49.5, 53.9) อัตราการฆ่าตัวตาย (เสียชีวิต) เท่ากับ 8.2 ต่อประชากรแสนคน (95% C.I. =6.5, 9.9 ) และอัตราการทำร้ายตนเองมากกว่า 1 ครั้ง เท่ากับ 5.5 ต่อประชากรแสนคน (95% C.I.=4.4, 5.8) สาเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดเหตุการณ์ส่วนใหญ่ คือ "ปัญหาความน้อยใจคนใกล้ชิด ที่ดุด่า หรือว่ากล่าว" (ร้อยละ 38) รองลงมาคือ "ปัญหาผิดหวังในความรัก/หึงหวง" (ร้อยละ 19) และ "ปัญหาโรคเรื้อรัง/พิการ/เสียโฉม" (ร้อยละ 11) ตามลำดับ วิธีการทำร้ายตนเองที่พบบ่อยที่สุด คือ การกินสารเคมี (ร้อยละ 46) ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดวางแผนทำร้ายตนเองมาก่อน (ร้อยละ 81) ลักษณะทางประชากร พบว่าสัดส่วนของเพศชายและเพศหญิงใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 51 และร้อยละ 49) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น คือช่วงอายุ 20-39 ปี (ร้อยละ 57) มีรายได้ต่อครอบครัวต่อเดือนอยู่ในช่วง 1,001-5,000 บาทต่อเดือน (ร้อยละ 53) "ไม่มี" โรคประจำตัว (ร้อยละ 74) "ไม่เคย" ไปรับบริการที่โรงพยาบาลจิตเวช หรือคลินิกจิตเวช(ร้อยละ 89) ไม่เคยทำร้ายตนเองมาก่อน (ร้อยละ 81) ก่อนเกิดเหตุการณ์ "ไม่ได้" ไปหาหรือขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น (ร้อยละ 77) หลังเกิดเหตุการณ์แล้ว ไปรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 66 สรุป และอภิปราย อัตราการทำร้ายตนเองและการเสียชีวิตยังคงสูง เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ การศึกษาครั้งนี้ ทำให้ทราบอัตราการทำซ้ำและสาเหตุหรือเหตุกระตุ้น ลักษณะทางประชากร และแบบแผนการใช้บริการของกลุ่มเป้าหมายที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานในปีต่อๆ ไปให้ดียิ่งขึ้น

Keywords: ระบาดวิทยา, การทำร้ายตนเอง, ฆ่าตัวตาย, ภาวะซึมเศร้า, ซึมเศร้า, ความชุก, อุบัติการณ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 000000046

ISSN/ISBN: 974-9627-39-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546

Download: -