ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นรีลักษณ์ กุลฤกษ์

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลงานการให้บริการปรึกษาภายใต้การดำเนินงานป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่ลูก

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข (12-15 สิงหาคม 2546 จังหวัดชลบุรี). หน้า 64.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินผลการให้การบริการตรวจเลือดเอชไอวีด้วยความสมัครใจ ภายใต้โครงการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในเขต 6 และเขต 6 โดยดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2543 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เป็นแบบสอบถามที่ปรับมาจากแบบประเมินผลของ UNAIDS ทั้งหมด 11 ชุด ประกอบด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานประจำเดือน การสัมภาษณ์ผู้ให้บริการ การสังเกตการณ์ระหว่างการให้การปรึกษาในคลินิกฝากครรภ์ ก่อนคลอดและหลังคลอด การเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (systematic random sapmling) โดยใช้อัตราการติดเชื้อเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์เป็นตัวกำหนด พื้นที่เป้าหมาย 19 แห่ง เป็นโรงพยาบาลทั้งหมด ตัวแปรที่ใช้ประกอบด้วยจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีมารับบริการฝากครรภ์ จำนวนหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยา (Zidovudine / ACT) สัดส่วนของผู้ให้บริการที่ผ่านการอบรม การให้บริการในการตรวจเลือดเอชไอวีด้วยความสมัครใจ (VCT) และการอบรมการให้ยา AZT เพื่อลดการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก คุณภาพและเนื้อหาการให้บริการปรึกษาแต่ละครั้ง ผลการศึกษา พบว่ามีจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มาคลอดทั้งหมด 124,952 ราย 87.7% (109,371 ราย) มีผลการตรวจเลือดเอชไอวี ซึ่งจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มีการตรวจเลือดทั้งหมด พบว่ามีผลเลือดเอชไอวีบวกเท่ากับ 1.4% (1,569 ราย) และได้รับยา AZT 61.8% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่มีผลเลือดเอชไอวีบวก (971 ราย) ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้มีการฝากครรภ์มีจำนวน 2,667 ราย โดยมีหญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีบวก = 8.7% (233 ราย) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับหญิงตั้งครรภ์ที่มีการฝากครรภ์ พบว่าจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีสัดส่วนที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p‹0.001) เมื่อพิจารณาจากจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาที่ได้รับการอบรมเฉพาะทางในเรื่องของการให้การปรึกษาเรื่องการ ตรวจด้วยความสมัครใจ การให้ยา AZT และการให้อาหารทารก พบว่าในพื้นที่เป้าหมายมีจำนวนเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเท่ากับ 45% (37/82) ส่วนการสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงพยาบาล ระบุว่ายังมีจุดอ่อนของการดำเนินงานและยังขาดการอบรมต่อเนื่อง (58%) และขาดการสนับสนุนด้านจิตใจสำหรับผู้ให้บริการปรึกษา 37% อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการปรึกษาที่ถูกสัมภาษณ์ 82% ระบุว่าจะยังคงปฏิบัติงานในการให้บริการปรึกษาต่อไป และผลการสังเกตขณะให้บริการปรึกษา พบว่าสามารถให้บริการเป็นที่น่าพอใจ การประเมินผลในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการให้บริการปรึกษาสามารถผสมผสาน ไปได้ในการให้บริการอนามัยแม่และเด็ก จุดอ่อนที่พบสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการให้ดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือหญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

Keywords: การให้บริการปรึกษา, การดำเนินงานป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่ลูก, aids counseling, counselling, คลินิกฝากครรภ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดขอนแก่น

Code: 000000051

ISSN/ISBN: 974-9627-39-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546

Download: -