ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมควร สีทาพา

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาการสอนทักษะชีวิตด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันการใช้สารเสพติดในนักเรียน โรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข (12-15 สิงหาคม 2546 จังหวัดชลบุรี). หน้า 65.

รายละเอียด / Details:

ความนำ/วัตถุประสงค์ ปัญหาเรื่องการใช้สารเสพติดในนักเรียน เริ่มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาเรื่องนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการสอนทักษะชีวิตของครู และการเปลี่ยนแปลงเจตคติต่อสารเสพติดในนักเรียนหลังการอบรม การสอนทักษะชีวิตด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันการใช้สารเสพติดในนักเรียน ระยะเวลาดำเนินการจากปีการศึกษา 2541-2544 รวม 3 ปี วิธีวิจัย เป็นการวิจัยกึ่งทดลองเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง กลุ่มทดลองประกอบด้วยครู 56 คน นักเรียน 236 คน กลุ่มควบคุมประกอบด้วยนักเรียน 238 คน ในกลุ่มทดลอง ได้อบรมครู 56 คน กลุ่มควบคุมไม่มีการอบรมครู แล้วปล่อยให้ดำเนินการสอนนักเรียนตามปกติในสภาพการณ์ที่เป็นจริง เครื่องมือในการวิจัยคือ 1) แผนการสอนทักษะชีวิตด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของกรมสุขภาพจิต และกรมอนามัย 2) แบบสอบถามครูแบบสอบถามนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต วิเคราะห์ความแตกต่างของเจตคติของนักเรียนก่อน-หลัง ดำเนินการโดยใช้สถิติ Paired t-test Independent t-test และวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ โดย pearson's Product Moment Correlation Coefficient. ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองครูได้นำการสอนทักษะชีวิตด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมไปใช้สอนนักเรียนร้อยละ 17.5 สาเหตุที่ไม่ได้นำไปสอนเพราะหลักสูตรและระบบไม่เอื้ออำนวย นโยบายไม่ชัดเจน การเปลี่ยนแปลงของเจตคตินักเรียน พบว่าความตระหนักรู้ว่าสารเสพติดเป็นสิ่งใกล้ตัว ความเห็นใจผู้ติดสารเสพติด ความรู้สึกต่อคุณค่าในตนเอง หลังการทดลองกลุ่มทดลองมีเจตคติด้านบวกสูงขึ้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ความสัมพันธ์ระหว่างทักษะชีวิตด้านเจตคติกับพฤติกรรมการลองใช้สารเสพติด พบว่าหลังทดลองในกลุ่มทดลองทักษะชีวิตด้านเจตคติมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการลองใช้สารเสพติดอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 จากผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การสอนทักษะชีวิตด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในนักเรียน แม้จะมีครูส่วนน้อยสอนอย่างต่อเนื่อง ก็มีผลทำให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเจตคติไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น และสามารถลดพฤติกรรมการลองใช้สารเสพติดในนักเรียน ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของสภาพปัญหาแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ข้อเสนอแนะ การอบรมครูสอนทักษะชีวิตด้วยการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ควรจะอบรมครูทุกคนในโรงเรียน หรืออบรมครูทุกคนในหมวดวิชาเดียวกัน จะได้เข้าใจในแนวเดียวกันเพื่อพัฒนาการพัฒนานักเรียนไปพร้อมๆ กันจึงจะประสบผลสำเร็จ

Keywords: สารเสพติด, การสอนทักษะชีวิต, การใช้สารเสพติดในนักเรียน, ปัญหายาเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดขอนแก่น

Code: 000000052

ISSN/ISBN: 974-9627-39-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546

Download: -