ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ทวี ตั้งเสรี, วัชนี หัตถพนม, ละเอียด ปัญโญใหญ่

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสุขภาพจิตผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2547

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ, ครั้งที่ 4, เรื่องสุขภาพจิตกับภัยพิบัติ, วันที่ 6-8 กรกฎาคม 2548 ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ, กรุงเทพมหานคร, หน้า 163.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2547 ได้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องขังทั่วประเทศ กรมสุขภาพจิตจึงได้ดำเนินการศึกษาปัญหาสุขภาพจิตเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัญหาสุขภาพจิตของผู้ต้องขัง และศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตของผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ระเบียบวิธีวิจัย เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive research) โดยศึกษาในกลุ่มผู้ต้องขังที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จำนวน 940 คน ใน 5 จังหวัด แต่จากการสำรวจในพื้นที่พบผู้ต้องขังเพียง 271 คน (ร้อยละ 28.82) เนื่องจากที่เหลือไม่กลับภูมิลำเนาเดิม ไปทำงานต่างจังหวัด หรือไปอยู่กับญาติที่ต่างจังหวัด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น ของอภิชัย มงคลและคณะ และส่วนที่ 3 แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเองของกรมสุขภาพจิต เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้ SPSS for Window สถิติที่ใช้ สถิติเชิงบรรยาย และ Chi-square test ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 271 คน เป็นเพศชายร้อยละ 88.6 อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลร้อยละ 83.8 ส่วนใหญ่จบประถมศึกษาร้อยละ 59.4 รองลงมามัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 22.5 สถานสภาพสมรสโสดร้อยละ 46.9 คู่อยู่ด้วยกันร้อยละ 35.8 ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 32.5 รองลงมาเกษตรกร ร้อยละ 29.5 ว่างงานร้อยละ 25.1 อยู่ในช่วงอายุ 21-44 ปี ร้อยละ 73.7 อายุ 45-60 ปี ร้อยละ 14.1 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 8.9 (ต่ำสุด 18 ปี สูงสุด 77 ปี อายุเฉลี่ย 32.74 ปี SD = 11.79) มีปัญหาสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไปร้อยละ 20.7 และมีระดับความเครียดปกติร้อยละ 88.2 ปานกลางร้อยละ 4.4 สูงร้อยละ 7.4 จากการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตและความเครียด ได้แก่ปัจจัยเรื่องเพศ อายุ ผลการศึกษาพบว่าปัญหาสุขภาพเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับผู้ต้องขังที่ได้รับการประเมินว่ามีปัญหาสุขภาพจิต และมีความเครียดระดับปานกลางขึ้นไปส่งต่อเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตในพื้นที่ดูแลต่อเนื่องต่อไป หากเกินความสามารถ สามารถปรึกษาหรือส่งต่อเครือข่ายระดับเหนือกว่าได้ ข้อเสนอแนะ ผู้ต้องขังทุกรายที่พ้นโทษ ควรมีการประเมินปัญหาสุขภาพจิตก่อนออกจากเรือนจำ และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

Keywords: สุขภาพจิต, ผู้ต้องขัง, ความเครียด, พระราชทานอภัยโทษ, กรมสุขภาพจิต, นักโทษ, เรือนจำ, แบบประเมินความเครียด, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2548

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

Code: 20050000115a

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในการประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2548

Download: