ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

ชื่อเรื่อง/Title: ระบาดวิทยาปัญหาด้านทางอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่น ปี 2548.

แหล่งที่มา/Source: ประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ, จากหลังคาแดงสู่ชุมชน ระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2549, หน้า 159.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล การพัฒนาทรัพยากรบุคคลควรเริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่วัยเด็กให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปแต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วมีการแข่งขันกันในการประกอบอาชีพ รวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวขาดหายไป นำไปสู่ความรุนแรงและความห่างเหินกันภายในครอบครัว เกิดปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชตามมา กรมสุขภาพจิตได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่น จึงได้สำรวจระบาดวิทยาปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นในปี 2548 เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนกำหนดแนวทางในการพัฒนางานเพื่อสุขภาพจิตที่ดีของเด็กและวัยรุ่น วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความชุกของปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นและศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ตามการรับรู้ของเด็กและวัยรุ่น ระเบียบวิธีวิจัย รูปแบบการศึกษานี้เป็นการสำรวจในชุมชนแบบภาคตัดขวางในช่วงเวลาหนึ่ง( crosssectionl descriptive study, community survey) ประชากรที่ศึกษามีอายุระหว่าง 6-18 ปี ทั้งเพศชายและเพหญิง จำนวนทั้งสิ้น 13,500 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ Stratified three-stage cluster sampling ใน 4 ภาค และกรุงเทพมหานคร เครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปสำหรับเด็ก แบบสำรวจพฤติกรรมเด็ก (Thai Youth Checklist) แบบวัดความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ ลูก (Parental Bonding Instrument) ทำการเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานสำรวจข้อมูลภาคสนาม นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา โดยใช้สูตรการคำนวณที่สอดคล้องกับการเลือกตัวอย่างเชิงความน่าจะเป็น สรุปผลการศึกษา ผลการศึกษาพบว่าเด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม (ร้อยละ 84-88) มีเพียงร้อยละ 12-16 เท่านั้นที่มีปัญหา กลุ่มที่มีปัญหาในระดับผิดปกติที่ต้องพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เป็นกลุ่มวัยรุ่นหญิงร้อยละ 8.1 วัยรุ่นชายร้อยละ 7.5 เด็กชายร้อยละ 5.7 และเด็กหญิงร้อยละ 5.2 ภาคใต้ทั้งเด็กและวัยรุ่นมีปัญหาในระดับผิดปกติมากกว่าภาคอื่นๆ และพบปัญหาผิดปกติน้อยที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก ตามการรับรู้ของเด็กและวัยรุ่น ส่วนใหญ่รูปแบบพ่อแม่แสดงความรักเอาใจใส่แต่ควบคุมไม่มากเกินไป คือ ร้อยละ 30-38 โดยพบความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และน้อยที่สุดในภาคใต้ สรุปผลการศึกษาดังกล่าวสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานดูแลสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมต่อไป ข้อเสนอแนะ จากผลการศึกษาสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานดูแลสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมในแต่ละพื้นที่และจัดระบบบริการสาธารณสุขให้สอดคล้องกับปัญหาความต้องการ รวมถึงการเฝ้าระวังปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมของเด็กและวัยรุ่นไทยในชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

Keywords: เด็ก, พฤติกรรม, อารมณ์, ระบาดวิทยา, สุขภาพจิต, วัยรุ่น, ปัญหาอารมณ์, กรมสุขาภาพจิต, คุณภาพชีวิต, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2549

Address: สำนักสุขภาพจิตสังคม

Code: 2006000165

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 5, ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ

Download: -