ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิเชฐ อุดมรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: โรคกังวลและซึมเศร้าผสมกัน โรคที่จิตแพทย์ไม่ควรมองข้าม

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 45 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2543 , หน้า 99-109

รายละเอียด / Details:

ปัจจุบันพบว่ากลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าในเวชปฏิบัติปฐมภูมินั้นมีความสำคัญมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีทั้งอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า แต่ไม่สามารถจัดเข้ากับเกณฑ์การวินิจฉัยโรคใด ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงถูกจัดเป็น “โรคกังวลและซึมเศร้าผสมกัน” โดยทั่วไปแล้วอาการวิตกกังวลกับอาการซึมเศร้านั้นจะพบร่วมกันได้บ่อยมากในทางคลินิก แต่ในทางปฏิบัติแล้วจำเป็นต้องแยกให้ได้ว่า ผู้ป่วยรายนั้นมีอาการใดเป็นอาการหลักหรืออาการนำมาก่อน แล้วมีอาการอื่นเกิดขึ้นตามมาภายหลัง หรือว่าผู้ป่วยเป็นทั้งสองโรค คือ เป็นทั้งโรคซึมเศร้าร่วมกันป็นโรควิตกกังวลชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อวินิจฉัยแยกภาวะดังกล่าวข้างต้นออกไปได้แล้ว จึงค่อยนึกถึง “โรคกังวลและซึมเศร้าผสมกัน” จากการศึกษาผู้ป่วยที่ไปตรวจตามสถานบริการทางการแพทย์ระดับปฐมภูมิพบว่า ร้อยละ 12.8 ของผู้ป่วยที่แคนาดา และร้อยละ 10.9 ของผู้ป่วยในประเทศไทยมีอาการเข้าได้กับเกณฑ์การวินิจฉัย “โรคกังวลและซึมเศร้าผสมกัน” ของ ICD-10 รายงานนี้ไม่เพียงแต่ยืนยันถึงการดำรงอยู่ของโรคนี้เท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงความสำคัญของโรคในระดับเวชปฏิบัติปฐมภูมิด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้นิพนธ์เห็นว่าการจะยืนยันว่า “โรคกังวลและซึมเศร้าผสมกัน” ควรจัดแยกออกมาเป็นโรคอีกโรคหนึ่งต่างหากหรือไม่นั้น น่าจะต้องตอบคำถามบางคำถามให้ได้ก่อน เช่น ความคงที่ของการวินิจฉัย การดำเนินโรคในระยะยาว และการศึกษาว่าควรรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างไรการรักษาหรือไม่รักษาจะมีผลต่ออาการลดทุพพลภาพของผู้ป่วยได้หรือไม่ เป็นต้น

Keywords: โรคประสาท, โรคกังวล ซึมเศร้า, neurosis, anxiety, depression, depress, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2543

Address: คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 100434501305

ISSN/ISBN: 0125-6985

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format 3.10MB