ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ผ่อง อนันตริยเวช

ชื่อเรื่อง/Title: ชุมชนจำลอง: อิสระและโอกาส

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข (12-15 สิงหาคม 2546 จังหวัดชลบุรี), หน้า 71.

รายละเอียด / Details:

บทนำและวัตถุประสงค์ สิ่งแวดล้อมบำบัด (Milieu Therapy) เป็นรูปแบบการรักษาพยาบาลด้านจิตเวชรูปแบบหนึ่ง โดยให้ความสำคัญกับบุคลากรและสภาพการณ์ต่าง ๆ ในสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวผู้ป่วยเพื่อสนับสนุนการรักษาพยาบาลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นของผู้ป่วย จากแนวคิดดังกล่าว หอผู้ป่วยฟื้นฟูฯ 14, 15 จึงได้เริ่มโครงการชุมชนจำลองในผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการทุเลาตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาลักษณะของการอยู่ร่วมกันของสมาชิกชุมชนจำลองไม่มีการสวมชุดของโรงพยาบาล แต่งกายด้วยชุดไปรเวทและรับผิดชอบซักเสื้อผ้าเอง การอยู่ร่วมกันเน้นให้พึ่งพาตนเอง/ช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มากที่สุดที่บุคลากรจะเอื้ออำนวยได้ คณะผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะศึกษาประสบการณ์การอยู่ในชุมชนจำลองของผู้ป่วยจิตเวช โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่ออธิบายความคิด/ความรู้สึกและประสบการณ์การอยู่ในชุมชนจำลองของผู้ป่วยจิตเวชเพื่อเป็นแนวทางใน การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยต่อไป ขอบเขตการศึกษา การศึกษาครั้งนี้เป็นกรณีศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในชุมชนจำลอง จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย เอกสาร/ตำราที่เกี่ยวข้อง เครื่องบันทึกเสียงพร้อมแถบบันทึกเสียง แนวทางการสัมภาษณ์ และแนวทางการสนทนากลุ่ม (focus group) การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการศึกษา เอกสาร การสังเกต สัมภาษณ์และสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษา พบว่าประสบการณ์การอยู่ในชุมชนจำลองของผู้ป่วยจิตเวช สมาชิกชุมชนจำลองให้ความหมายว่า คือ "อิสระและโอกาส" อิสระ หมายถึง ความเป็นส่วนตัว ปล่อยให้สมาชิกใช้ชีวิตเหมือนอยู่บ้าน แต่งกายธรรมดา ไม่ต้องใส่ชุดเครื่องแบบผู้ป่วย มีการทำงานและสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ไม่ต้องอยู่เฉพาะบนตึก มีลักษณะของความเป็นส่วนตัวไม่วุ่นวาย ส่วนโอกาส หมายถึง การยอมรับความคิดเห็นความไว้วางใจที่บุคลากรมีให้ เช่น ให้หยิบยารับประทานเอง ดูแลกันเองในช่วงเวลากลางคืน โอกาสในการฝึกอาชีพ ออกไปทำงานข้างนอก เช่น ทำงานที่วัด โรงงาน และสวนผลไม้ เป็นต้น สรุปและข้อเสนอแนะ การศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนจำลองเป็นการจัดประสบการณ์ชีวิตขณะที่ผู้ป่วยอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล การจัดประสบการณ์ดังกล่าวส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้สึกมีอิสระและโอกาสเหมือนคนทั่วไป ดังนั้น บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลต้องตระหนักในความคิด ความรู้สึกของผู้ป่วยเพื่อจัดสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ให้ผู้ป่วย โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงต่อไป

Keywords: ชุมชนจำลอง, milieu therapy, การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตเวช, จิตเวช, ผู้ป่วยโรคจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 000000058

ISSN/ISBN: 974-9627-39-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546

Download: -