ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อมรากุล อินโอชานนท์, อินทิรา ปัทมินทร

ชื่อเรื่อง/Title: ปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน

แหล่งที่มา/Source: วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2534

รายละเอียด / Details:

กรมสุขภาพจิตได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการและเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพจิตในชุมชนกับกองสังคมสงเคราะห์ สำนักงานสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2534 ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ในการนี้ กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการและฟังบรรยายความรู้สุขภาพจิต ซึ่งคำตอบที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะความเป็นอยู่ และสภาพจิตของคนในชุมชนแออัดส่วนหนึ่ง ตลอดจนทราบถึงวิธีแก้ปัญหา และความต้องการความช่วยเหลือ การเก็บข้อมูลนี้ ได้ดำเนินการในวันที่ 29 มิถุนายน 2534 โดยใช้แบบสอบถามกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มาจากชุมชนแออัดต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งคำถามเป็น 2 ภาค จากแบบสอบถาม จำนวน 124 ชุด ผู้ตอบเป็นหญิง 117 คน (ร้อยละ 94.35) และชาย 7 คน (ร้อยละ 5.65) ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี จำนวน 50 คน (ร้อยละ 40.32) ได้รับการศึกษาในระดับประถมศึกษาจำนวน 69 คน (ร้อยละ 55.64) มีอาชีพรับจ้าง จำนวน 65 คน (ร้อยละ 52.42) มีสถานภาพคู่ จำนวน 91 คน (ร้อยละ 73.39) และมีบุตรจำนวน 1-3 คน มากที่สุด คือ มี 70 คน (ร้อยละ 70.0) สำหรับคำถามเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 4 ข้อ พบว่า ผู้ที่ตอบว่า ปัญหาเศรษฐกิจหรือรายได้ไม่พอกับรายจ่าย เป็นปัญหาที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจมากที่สุด มีจำนวนถึง 46 คน (ร้อยละ 37.10) ปัญหาครอบครัว 24 คน (ร้อยละ 19.35) ปัญหาสิ่งแวดล้อม 13 คน (ร้อยละ 10.48) ปัญหาการทำงาน 10 คน (ร้อยละ 8.06) ปัญหาทางอารมณ์ 7 คน (ร้อยละ 5.65) ปัญหาสุขภาพ 4 คน (ร้อยละ 3.23) ไม่มีปัญหา 3 คน (ร้อยละ 2.42) และมีปัญหาการเรียน 1 คน (ร้อยละ 0.81) ปัญหารองลงมา คือ ปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 19.35) เช่น ความไม่เข้าใจกัน การทะเลาะเบาะแว้งกัน ความเห็นแก่ตัว ไม่มีน้ำใจต่อกันของสมาชิกในครอบครัว คือ ขาดความอบอุ่นในครอบครัว ต่างคนต่างทำงาน และไม่เอาใจใส่ต่อกัน ซึ่งเป็นสภาพแนวโน้มของครอบครัวในปัจจุบันที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวห่างเหินกันมากขึ้นเพราะสภาพสังคม เศรษฐกิจที่ทำให้ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ มีการแข่งขันกันสูง ทำให้คนละเลยในเรื่องของความรู้สึก ความต้องการทางจิตใจ นอกจากนั้นก็มีปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพที่ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เช่น มีกลุ่มเด็กติดกาว และยาเสพติดในชุมชน ซึ่งปัญหายาเสพติดและปัญหาการมั่วสุมของเด็กและเยาวชนนี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากปัญหาครอบครัวนั่นเอง เช่น มากจากสภาพครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก การเลี้ยงดูลูกที่ไม่ถูกวิธี เป็นต้น ปัญหามลภาวะต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาการจราจร อันก่อให้เกิดความเครียด ซึ่งจากการสำรวจสภาพและปัญหาประชากร สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนแออัดกรุงเทพมหานคร ของภาควิชาสุขศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ปี พ.ศ. 2527) ก็ได้ระบุว่าการที่ประชาชนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากในลักษณะชุมชนแออัด จะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การขาดบริการสาธารณและสาธารณูปโภค ขาดความปลอดภัยในทรัพย์สินและที่อยู่อาศัย เกิดปัญหาความสกปรกโสโครก กลิ่นเหม็น เต็มไปด้วยขยะและสิ่งปฏิกูล ภาวะแวดล้อมเสื่อมโทรม น้ำเน่า อากาศเสีย เกิดโรคภัยไข้เจ็บและโรคระบาด สุขอนามัยเสื่อมโทรม เกิดอาชญากรรม โสเภณีและยาเสพติด

Keywords: ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, สังคม, สุขภาพจิต, ปัญหาสุขภาพจิต, สุขภาพจิตชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 101342202054

ISSN/ISBN: 0125-1422

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -