ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กัญญา ธัญมันตา

ชื่อเรื่อง/Title: เด็กออทิสติคกับผลกระทบต่อพ่อแม่

แหล่งที่มา/Source: วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2535 ,12-24

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ด้านสุขภาพกายด้านสุขภาพจิต และด้านสังคมของบิดามารดาที่มีลูกเป็นออทิสติค โดยการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 70 ราย เป็นบิดา 29 ราย มารดา 41 ราย ซึ่งนำลูกมารับบริการ ณ ศูนย์สุขวิทยาจิต แผนกกุมารจิตเวชศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และแผนกฝึกพูดโรงพยาบาลรามาธิบดีเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ใช้แบบสอบถาม ซึ่งบิดามารดา เด็กออกทิสติคเป็นผู้ประเมินตามการรับรู้ของตนเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตราฐาน และการหาค่าร้อยละ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ด้านสุขภาพกาย พบว่า ร้อยละ 7.14 ของบิดามารดา มีอาการทางกายสูงกว่าปกติ 2. ด้านสุขภาพจิต แบ่งเป็น 2.1 ความกังวลทั่วไป พบว่าทั้งบิดาและมารดา มีระดับความวิตกกังวลอยู่ในระดับปกติทั้งสิ้น 2.2 ความกังวลเฉพาะ พบว่าบิดามารดา มีความวิตกกังวลมากในเรื่องอาการของเด็ก และในเรื่องแหล่งบริการต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ การต้องการฝึกพูด สถานที่เรียนในอนาคต และคลินิกทันตกรรม เป็นต้น 2.3 ด้านอารมณ์เศร้า พบว่า ร้อยละ 10 ของทั้งบิดาและมารดา มีอารมณ์เศร้าสูงกว่าปกติ 3. ด้านสังคม พบว่า คะแนนที่ได้มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่าปกติที่ใช้วัดทุกด้าน Kanner จิตแพทย์ เด็กอเมริกันได้กล่าวถึงออทิสซึ่มเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว โดยทำเป็นรายงาน คนไข้ในปี 1943 รายแรก ระยะ Kanner เรียก “early infantile autism” ทำให้มีผู้สนใจศึกษาต่อมาอีกมาก ในคู่มือการวินิจฉัยโรคความผิดปกติทางจิตโดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกันฉบับต้น ๆ จัดออทิสซึ่มอยู่ในกลุ่มโรคจิตเภทในเด็ก ต่อมาในปี 1980 ฉบับที่ 3 ได้เพียงกลุ่มความผิดปกติขึ้น และจัดออทิสซึ่มอยู่ในกลุ่มของความผิดปกติของการพัฒนาการแบบแผ่กระจาย (Pervasive developmental disorders) ต่อมาในปี 1987 ได้มีการปรับปรุง ฉบับที่ 3 ใหม่ ซึ่งออทิสซึ่มยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดิมโดยมีหลักเกณฑ์วินิจฉัยย่อ ๆ ดังนี้ ออทิสซึ่มเป็นความผิดปกติที่รุนแรงในเด็กที่พบได้ ตั้งแต่เด็กมีอายุก่อน 30 เดือน โดยพบว่าเด็กมีความบกพร่องด้านความสัมพันธ์ตอบโต้กับผู้อื่น ไม่รับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น ไม่รู้จักการลอกเลียนแบบพฤติกรรมเหมือนเด็กที่กำลังเรียนรู้ทั่วไป แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่สามารถเล่นในลักษณะสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ และมีความบกพร่องในการคบหาสมาคมกับเพื่อน นอกจากนี้ ยังมีความบกพร่องในการติดต่อสื่อสาร ทั้งด้านการใช้คำพูดและท่าทาง มีความผิดปกติในการออกเสียง ผิดปกติในเนื้อหาคำพูดไม่สบตา ขาดจินตนาการในการเล่น และยังมีความบกพร่องหรือผิดปกติในกิจกรรม ความสนใจ ซึ่งแสดงออกในรูปต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำ ๆเคลื่อนไหวแปลก ๆ หมกมุ่นกับวัตถุต่าง ๆ ลูบคลำวัตถุซ้ำ ๆ ติดวัตถุแปลก ๆ ไม่สมเหตุสมผล ความสนใจแคบแสดงความไม่พอใจถ้าสิ่งแวดล้อมที่เคยเป็นอยู่ถูกเปลี่ยนแปลง ด้านสติปัญญานั้นเด็กออทิสติกส่วนใหญ่ 75-80% เป็นปัญญาอ่อน แต่ปัญญาอ่อนทั้งหมดไม่ได้เป็นออทิสติค

Keywords: autism, autistic, child, ออทิสติค, สุขภาพจิต, สุขภาพจิตของบิดามารดาที่มีลูกเป็นออทิสติค, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตเวชเด็ก, เด็ก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: ศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 101352301028

ISSN/ISBN: 0125-1422

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -