ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมจิตต์ ลุประสงค์

ชื่อเรื่อง/Title: บริการสุขภาพจิต: พัฒนาการเชิงนโยบาย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข (12-15 สิงหาคม 2546 จังหวัดชลบุรี), หน้า 75.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิต หรือโรคทางจิตเวชนับวันจะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หากปล่อยไว้จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศหลายประการ และส่งผลเสียต่อสังคมและวิถีชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง ซึ่งนโยบายสุขภาพจิตและกลยุทธ์เดิมอาจจะไม่ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องของสังคมโลก ที่ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มจะรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องถึงเวลาที่จะมีนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพจิตของประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาและกำหนดนโยบายด้านสุขภาพจิต ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพของประเทศ ขอบเขตการวิจัย ศึกษาจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริการสุขภาพจิต ได้แก่ ผู้บริหารสาธารณสุขระดับนโยบายผู้บริหารสาธารณสุขระดับจังหวัด ผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขในชุมชน และประชาชนผู้มารับบริการ ระเบียบวิธีวิจัย ศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เก็บข้อมูลปฐมภูมิระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2546 กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ใน 4 จังหวัด ของ 4 ภาค ได้แก่ ผู้บริหารสาธารณสุขระดับนโยบาย ผู้บริหารสาธารณสุขระดับจังหวัด ผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขในชุมชน และประชาชนผู้มารับบริการ 4 จังหวัด คือ นนทบุรี นครพนม เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงในเฉพาะกลุ่มผู้บริหารระดับนโยบาย นอกจากนั้นใช้เทคนิคการสุ่มแบบหลายขั้นตอน ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารระดับนโยบาย จำนวน 8 คน ตอบแบบสอบถามโดยผู้บริหารสาธารณสุขระดับจังหวัด จำนวน 29 คน จัดสนทนากลุ่ม (Focus group) สำหรับผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขในชุมชน 4 ครั้ง จำนวน 72 คน และสัมภาษณ์ผู้มาใช้บริการที่โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลจิตเวช จังหวัดละ 3 แห่ง รวมทั้งหมด 12 แห่ง จำนวน 1,000 คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงบรรยายและการวิเคราะห์เนื้อหา สรุปผลการวิจัย พบว่าข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านสุขภาพจิต 3 ยุทธศาสตร์ คือ การปฏิรูประบบบริหารการพัฒนาบริการสุขภาพจิต และการพัฒนาศักยภาพความพร้อม ซึ่งประกอบด้วย 12 กลยุทธ์ ข้อเสนอแนะ กรมสุขภาพจิตในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในเรื่องสุขภาพจิต ต้องสร้างพันธมิตรและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนและแกนนำชุมชนให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิต สร้างให้เกิดการยอมรับของสังคม และถือเป็นภารกิจร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชนในการสร้างเสริมสุขภาวะอย่างองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ

Keywords: บริการสุขภาพจิต, นโยบาย, สุขภาพจิต, ปัญหาทางจิตเวช, ปัญหาสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 000000059

ISSN/ISBN: 974-9627-39-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546

Download: -