ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อินทิรา ปัทมินทร และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดของนักกีฬาทีมชาติไทยในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13

แหล่งที่มา/Source: วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2542, หน้า 46-55

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะความเครียด สาเหตุของความเครียดการจัดการกับความเครียดและการสนับสนุนทางสังคมของนักกีฬาทีมชาติไทย และเพื่อประเมินประสิทธิผลของหลักสูตรจิตวิทยาการกีฬา สำหรับการอบรมนักกีฬาทีมชาติไทย ของกรมสุขภาพจิตด้วย การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม โดยแบ่งการเก็บข้อมูลเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเก็บข้อมูลหลังการอบรมหลักสูตรจิตวิทยาการกีฬา จากนักกีฬา 6 สมาคม จำนวน 120 คน โดยใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยและคณะได้พัฒนาขึ้นส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งใช้แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเองของกรมสุขภาพจิตระยะที่สองเก็บข้อมูลหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 จากนักกีฬา 6 สมาคม จำนวน 67 คน โดยใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยและคณะพัฒนาขึ้น การวิเคราะห์ข้อมูลทำโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows ซึ่งผลการวิจัยระยะแรก พบว่าในช่วงเก็บตัวฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน นักกีฬาทีมชาติไทยส่วนใหญ่ (6.5%) มีความเครียดอยู่ในเกณฑ์ปกติ และพบความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดของนักกีฬากับตัวแปรด้านเพศและสมาคมกีฬาด้วย ส่วนสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาเครียดบ่อย ๆ ได้แก่ โค้ชหรือผู้จัดการทีม คู่แข่งและการฝึกซ้อม วิธีปฏิบัติตนเพื่อผ่อนคลายความเครียดที่นักกีฬาใช้บ่อย ๆ ได้แก่ การมีความหวังพยายามลืมเรื่องที่เครียด และพิจารณาถึงสิ่งที่ทำให้เครียดแล้วพยายามแก้ไข ด้านการสนับสนุนทางสังคม พบว่าครอบครัวเป็นกลุ่มบุคคลแรกที่นักกีฬาจะนึกถึงเมื่อต้องการคำปลอบประโลมใจหรือกำลังใจและเมื่อต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ส่วนโค้ชหรือผู้จัดการทีมจะเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ สำหรับการประเมินประสิทธิผลของหลักสูตรจิตวิทยาการกีฬาเห็นว่าทุกวิชามีประโยชน์ทั้งสิ้นและจากวิชาทั้งหมด 7 วิชามีวิชาที่นักกีฬาเห็นว่ามีประโยชน์มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การผ่อนคลายความเครียด การฝึกซ้อมทางจิตใจ และการสร้างความเข้มแข็งของจิตใจ ในด้านระยะเวลาการอบรม 1 วัน นักกีฬาส่วนใหญ่เห็นว่าเหมาะสมแล้วแต่อีกส่วนหนึ่งต้องการให้ขยายเวลาออกไปอีก และนักกีฬาส่วนใหญ่ต้องการให้กรมสุขภาพจิตให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในระยะยาวด้วย ส่วนผลการวิจัยในระยะที่สอง ภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขัน พบว่านักกีฬาส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับผลการแข่งขันของตน และยังยืนยันว่าการอบรมของกรมสุขภาพจิตมีประโยชน์มากต่อการฝึกซ้อมและการแข่งขัน จึงต้องการให้กรมสุขภาพจิตจัดการอบรมและติดตามดูแลจิตใจนักกีฬาอีกในโอกาสที่จะมีการแข่งขันครั้งต่อไปด้วย จากผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ทำให้ได้ทราบข้อมูลพื้นฐานด้านความเครียดและการสนับสนุนทางสังคมของนักกีฬาทีมชาติไทย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากทางด้านวิชาการ และข้อมูลที่ได้จากการประเมินประสิทธิผลของหลักสูตรจิตวิทยาการกีฬา จะช่วยให้กรมสุขภาพจิตสามารถพัฒนางานด้านจิตวิทยาการกีฬาได้เหมาะสมและตรงต่อความต้องการของนักกีฬาทีมชาติไทยมากยิ่งขึ้นด้วย

Keywords: stress, เครียด, นักกีฬาทีมชาติไทย, เอเชี่ยนเกมส์, ภาวะความเครียด, จิตวิทยาการกีฬา, จิตวิทยา, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 101423001057

ISSN/ISBN: 0125-1422

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -