ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อินทิรา ปัทมินทร และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจภาวะสุขภาพจิตของตำรวจจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร

แหล่งที่มา/Source: วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2542, หน้า 42-48

รายละเอียด / Details:

ตำรวจจราจรเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องปฏิบัติงานภายใต้ความกดดันทั้งด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางด้านจิตใจ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นปัญหานี้จึงได้จัดทำโครงการสำรวจภาวะสุขภาพจิตของตำรวจจราจรในเขตกรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อทราบสภาพปัญหาและหาแนวทางให้ความช่วยเหลือทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อันจะเป็นประโยชน์ทำให้ตำรวจจราจรมีสุขภาพจิตดี สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยคลี่คลายปัญหาการจราจรได้เป็นอย่างดีต่อไป กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ สุ่มเลือกจากตำรวจจราจรที่อยู่ในสังกัดหน่วยงาน 4 แห่ง คือ กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้และกองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี จำนวน 2,301 คน ทำการรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจสภาวะสุขภาพทั่วไป (General Health Questionnaire-GHO 28) ของ David Goldgerg (1972) ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ค่าความเชื่อมั่นแล้วมีค่าเท่ากับ .9329 ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนภาวะสุขภาพจิตของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 1.76 (ค่าคะแนนอยู่ระหว่าง 1-4) ซึ่งแสดงว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีภาวะสุขภาพจิตอยู่ในระดับปกติ และเมื่อใช้ค่าเฉลี่ยของกลุ่มเป็นจุดแบ่งระหว่างกลุ่มที่สูงกว่าและต่ำกว่าค่าเฉลี่ย พบว่าร้อยละ 56.9 มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม และร้อยละ 43.1มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตสูง นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาวะสุขภาพจิตของกลุ่มตัวอย่างมีความสัมพันธ์กับลักษณะข้อมูลทั่วไปด้วย คือ กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และกลุ่มตัวอย่างที่อาศัยอยู่ในห้องเช่าหรือบ้านเช่า จะมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตสูง ส่วนกลุ่มที่มีลักษณะครอบครัวแบบครอบครัวเดี่ยว คืออยู่กันเฉพาะพ่อแม่ลูก และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองหรือบ้านของคู่สมรสจะมีภาวะสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนปัญหาที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ามีความสำคัญมากเรียงตามลำดับ 10 ลำดับ ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับมลพิษ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาระบบราชการที่ไม่อำนวยต่อการทำงาน ปัญหาเกี่ยวกับชั่วโมงทำงานที่ไม่เหมาะสมปัญหากับผู้ใช้รถใช้ถนน ปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการทำงาน ปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัวกับคู่สมรสหรือสมาชิกในบ้าน ปัญหากับผู้ร่วมงาน และปัญหากับผู้บังคับบัญชา ผลการวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงภาวะสุขภาพจิตและสภาพปัญหาของกลุ่มตัวอย่างซึ่งมีความสำคัญและมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งทำการแก้ไข และให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มตัวอย่างที่มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตสูงเป็นการด่วน และในขณะเดียวกันจะต้องมีการจัดทำโครงการป้องกันปัญหาและส่งเสริมสุขภาพจิตแก่ตำรวจจราจรโดยรวมเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดีสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ อำนวยประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนได้อย่างเต็มที่ต่อไป

Keywords: ตำรวจ, เครียด, stress, ภาวะสุขภาพจิต, สุขภาพจิต, กรุงเทพมหานคร

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 101423002059

ISSN/ISBN: 0125-1422

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -