ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชยันตร์ธร ปทุมานนท์, ชไมพร ทวิชศรี, รังสรรค์ วรวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: ลักษณะทางจิตสังคมที่คาดคะเนการติดสารเสพติด

แหล่งที่มา/Source: วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 30 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2542 , หน้า 1-12

รายละเอียด / Details:

ความเป็นมา : สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ติดสารเสพติดเพิ่มมากขึ้น การศึกษาในอดีตพบว่า มีลักษณะหลายประการที่ส่งผลต่อการติดสารเสพติด การศึกษาในประเทศไทยยังมีไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า ลักษณะใดบ้างที่เป็นตัวชี้บ่งการติดสารเสพติด วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาลักษณะทางจิตสังคมที่คาดคะเนการติดสารเสพติด วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาแบบ case-control study กลุ่มศึกษาเป็นผู้ที่มารับการรักษาการติดสารเสพติดที่ศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดภาคเหนือ และคลินิกชุมชนข่วงสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 107 ราย (เฮโรอีน 54 รายและแอมเฟตามีน 53 ราย) กลุ่มควบคุมได้แก่บุคคลทั่วไปที่เป็นผู้โดยสารหรือผู้ที่มารอรับส่ง บริเวณสถานีขนส่ง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 148 ราย โดยคัดเลือกให้มี เพศและอายุใกล้เคียงกับกลุ่มศึกษา ข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์ โดยใช้แบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐานทางประชากร ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว ปัญหาที่มีและวิธีจัดการกับปัญหา ข้อมูลเพื่อประเมินพฤติกรรมการต่อต้านสังคม ข้อมูลพฤติกรรมสังคมในวัยเด็ก และข้อมูลเพื่อประเมินภาวะความวิตกกังวล วิเคราะห์ลักษณะทางจิตสังคมที่คาดคะเนการติดสารเสพติดด้วย conditional logistic regression ผลการศึกษา : ลักษณะที่คาดคะเนการติดสารเสพติดโดยไม่แยกประเภท ได้แก่ พฤติกรรมต่อต้านสังคม (OR + 11.92 , 95 % CI = 5.04-28.19) ว่างงาน (OR + 4.15 , 95 % CI = 1.53-11.30) เก็บปัญหาไว้คิดตามลำพัง (OR + 2.34 , 95 % CI = 1.04-5.25) ความขัดแย้งกันระหว่างพ่อแม่ (OR + 2.24 , 95 % CI = 1.00-5.02) และภาวะความวิตกกังวล (OR + 2.72 , 95 % CI = 1.22-6.08)เมื่อวิเคราะห์แยกตามประเภทของสารเสพติด พบว่าลักษณะที่คาดคะเนการติดสารแอมเฟตามีน ได้แก่ พฤติกรรมต่อต้านสังคม (OR + 13.51 , 95 % CI = 5.89-30.99) เก็บปัญหาไว้คิดตามลำพัง (OR + 3.49 , 95 % CI = 1.54-7.88) และความขัดแย้งภายในครอบครัว (OR + 3.26 , 95 % CI = 1.31-8.14) ส่วนลักษณะที่คาดคะเนการติดสารเฮโรอีน ได้แก่ พฤติกรรมต่อต้านสังคม (OR + 6.79 , 95 % CI = 2.45-18.78) ว่างงาน (OR + 5.99 , 95 % CI = 2.31-15.49) ไม่เข้าสังคม (OR + 3.84 , 95 % CI = 1.51-9.80) และมีภาวะวิตกกังวล (OR + 3.36 , 95 % CI = 1.33-8.45) บทสรุป : ผลจากการศึกษานี้สามารถนำไปเป็นแนวทางให้ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ รวมทั้งหน่วยงานสวัสดิการสังคมที่เกี่ยวข้อง ใช้พิจารณาในการป้องกันและเฝ้าระวังผู้ที่มีลักษณะเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อลดปัญหาการใช้สารเสพติดในสังคม

Keywords: ลักษณะทางจิตสังคม สารเสพติด ปัจจัยเสี่ยง, ยาเสพติด, drug

ปีที่เผยแพร่/Year: 2542

Address: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 101423002061

ISSN/ISBN: 0125-1422

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -