ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: องุ่น พยุงธรรม

ชื่อเรื่อง/Title: ประเมินผลการดำเนินงานให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ ปีงบประมาณ 2540-2544. (The Evaluation on Telephone Counselling for year 1997-2001)

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข (12-15 สิงหาคม 2546 จังหวัดชลบุรี), หน้า 135.

รายละเอียด / Details:

กรมสุขภาพจิตมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตดำเนินการจัดตั้งหน่วยบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและสะดวกรวดเร็ว โรงพยาบาลศรีธัญญาจึงได้ดำเนินการให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ โดยมอบหมายให้กลุ่มงานการพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบหลักและมีบุคลากรทีมสหวิชาชีพหมุนเวียนทำหน้าที่ผู้ให้การปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้รับบริการเฉลี่ยเดือนละ 735 คนลักษณะปัญหาที่มาปรึกษามีหลากหลาย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการให้บริการและวางแผนบริการได้เหมาะสม กลุ่มงานการพยาบาลจึงสำรวจการให้การปรึกษาโทรศัพท์ ปีงบประมาณ 2540-2544 เพื่อประเมินผลการบริการโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) ศึกษาลักษณะปัญหาของผู้มารับบริการ 2) ศึกษาแนวโน้มของการรับบริการ วิธีการศึกษาประกอบด้วย การศึกษาเอกสาร วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละและกราฟ ผลการศึกษา พบว่าปัญหาที่ผู้โทรศัพท์มาขอรับบริการปรึกษามากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 15.27 ปัญหาการปรับตัวในสังคม/ความรัก ร้อยละ 14.75 ปัญหาการปรับตัวของผู้ป่วยจิตเวชร้อยละ 13.67 Silent call ร้อยละ 8.18 และปัญหาทางเพศร้อยละ 7.20 ส่วนที่เหลือเป็นปัญหาอื่น ๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพจิต บริการของโรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนแนวโน้มของการรับบริการปรึกษา พบว่ามีลักษณะค่อนข้างคงที่ ยกเว้นในปี พ.ศ. 2541 และ 2542 มีผู้รับบริการมากกว่าปีอื่น เฉลี่ย 8978 ราย/ปี ส่วนปีอื่นเฉลี่ย 7542 ราย/ปี สาเหตุเนื่องจากในปี 2541 และ 2542 เป็นปีที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ จึงทำให้ประชาชนมีปัญหาโทรศัพท์มาปรึกษามากกว่าปีอื่นๆ สรุปข้อเสนอแนะ จากผลการดำเนินงานปัญหาที่พบมากที่สุดในทุกปี คือ ปัญหาครอบครัว ปัญหาการปรับตัว การเตรียมผู้ที่จะทำหน้าที่ให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ให้มีความรู้ความสามารถ ในเรื่องการให้การปรึกษาครอบครัว และปัญหาการปรับตัวเพื่อให้การปรึกษาเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าหากช่วงเวลาใด มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการให้บริการอย่างเพียงพอ นอกจากนี้จากการศึกษาเอกสารในครั้งนี้ พบว่าการบันทึกลักษณะปัญหา การจัดหมวดหมู่ของปัญหายังขาดความชัดเจน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนการบันทึก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริง

Keywords: การให้การปรึกษาทางโทรศัพท์, บริการสุขภาพจิต, การพยาบาลจิตเวช, ปัญหาสุขภาพจิต, telephone counseling

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 000000062

ISSN/ISBN: 974-9627-39-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546

Download: -