ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พยุงจิต วรมุนินทร และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลการอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

แหล่งที่มา/Source: วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม 2535

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินเนื้อหาสาระของหลักสูตร การบริหารและการจัดดำเนินหลักสูตร ผลการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรมและความจำเป็นในการจัดอบรมหลักสูตร สุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชระดับหลังวิชาการพยาบาลขั้นพื้นฐาน (หลักสูตร 1 ปี) โดยประเมินจากหลักสูตรในปีการศึกษา 2533 กลุ่มตัวอย่างประชากร ได้แก่ ผู้รับการอบรม ในปีการศึกษา 2533 จำนวน 34 คน ผู้สำเร็จการอบรมตั้งแต่ปีการศึกษา 2524 ถึง 2532 เฉพาะที่ยังรับราชการอยู่ ผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานของผู้สำเร็จการอบรม กลุ่มละ 320 คน และผู้บังคับบัญชาระดับ ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าสายงานพยาบาล จำนวน 713 คน เก็บข้อมูลด้วยการใช้แบบสอบถามซึ่งคณะผู้ประเมินสร้างขึ้นเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ คำนวณหาค่าร้อยละหาค่าเฉลี่ยหาค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐานและหาค่าอัตราส่วน F โดยวิธีของเซฟเฟ ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้ 1. ผลการประเมินการอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช ปีการศึกษา 2533 1.1 การประเมินเนื้อหาสาระของหลักสูตร พบว่า เนื้อหาวิชาและจำนวนชั่วโมงที่สอนในหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีความเหมาะสมกับหลักสูตร มีเพียงบางส่วนที่ควรปรับปรุงเพื่อให้ได้เนื้อหาสาระตรงกับจุดประสงค์ของหลักสูตร 1.2 การประเมินการบริหารและการจัดดำเนินหลักสูตร พบว่า สถานที่เรียนภาคทฤษฎีและสถานที่ฝึกปฏิบัติงานอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมาก สำหรับการบริหารและการจัดดำเนินการหลักสูตรด้านอื่นๆ อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมปานกลาง 2. ผลการประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรม พบว่า ทั้งผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงานและผู้สำเร็จการอบรมมีความเห็นสอดคล้องกันว่าความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรมอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมากใน 3 ด้าน คือ ด้านปฏิบัติการพยาบาล ด้านการบริหารและประสานงานและด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ และการทำงาน สำหรับการปฏิบัติงานด้านการป้องกันส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมปานกลาง แต่การประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรมโดยรวมทั้ง 4 ด้าน พบว่า อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมากและเมื่อนำผลการประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการอบรมแต่ละด้านมาเปรียบเทียบกัน พบว่าความสามารถในการปฏิบัติงาน 3 ด้าน คือ ด้านการปฏิบัติการพยาบาล ด้านการบริหารและประสานงาน และด้านพฤติกรรมที่แสดงถึงทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพและการทำงานไม่แตกต่างกันและสูงกว่าด้านการป้องกันส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 3. ผลการประเมินความจำเป็นในการจัดอบรม 3.1 การประเมินความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ทางจิตเวชของพยาบาลวิชาชีพในหน่วยงานต่าง ๆ พบว่า ผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่มีความเห็นว่าความรู้พื้นฐานทางจิตเวชของพยาบาลวิชาชีพในหน่วยงานยังไม่เพียงพอและเห็นด้วยว่า ควรมีพยาบาลวิชาชีพที่มีความรู้ทางจิตเวชในการปฏิบัติงาน 3.2 การประเมินนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ ในการส่งพยาบาลวิชาชีพเข้ารับการอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช (หลักสูตร 1 ปี) พบว่า 3.2.1 หน่วยงาน 291 แห่งคิดเป็นร้อยละ 54.70 ไม่มีนโยบายส่งพยาบาลวิชาชีพเข้ารับการอบรม นอกนั้นต้องการส่ง 3.2.2 หน่วยงาน 300 แห่งคิดเป็นร้อยละ 56.39 มีความเห็นว่า ระยะเวลาการอบรม 1 ปี มากไป อีก 202 แห่งคิดเป็นร้อยละ 37.97 มีความเห็นว่าเหมาะสมดีแล้ว 3.2.3 การประเมินการรับรู้เกี่ยวกับการจัดอบรม พบว่า หน่วยงาน 219 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 41.17 ที่ไม่ได้รับรู้ว่าโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา จัดอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช (หลักสูตร 1 ปี) ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลชุมชนเสีย 203 แห่ง

Keywords: nurse, psychiatric nursing, training, การอบรมการพยาบาลจิตเวช,สุขภาพจิต, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 102350602010

ISSN/ISBN: 0857-4553

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -