ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เจริญ แจ่มแจ้ง, พวงรัตน์ บุญญานุรักษ์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจการกระจายบุคลากรพยาบาลในสถานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

แหล่งที่มา/Source: วารสารสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 ตุลาคม - ธันวาคม 2540 - มกราคม 2541 หน้า 27-49

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สำรวจจำนวนและประเภทของบุคลากรพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน 2) ศึกษาความคิดเห็นของหัวหน้าหน่วยงานต่อการที่บุคลากรพยายามปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ นอกเหนือกลุ่มงานการพยาบาล 3) ศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรพยาบาลต่องานที่ปฏิบัติในปัจจุบัน 4) ศึกษาเหตุผลของการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งภาระงานหลักของบุคลากรพยาบาล กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานบริการทางสุขภาพจิตและจิตเวชสังคมกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย หัวหน้ากลุ่มหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 74 คน บุคลากรพยาบาล (พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค เจ้าหน้าที่พยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้) ที่ปฏิบัติงานในกลุ่มงานการพยาบาล จำนวน 2,426 คน และบุคลากรพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 417 คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสำรวจข้อมูล 1 ชุด และแบบสอบถาม 2 ชุด ที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS/PC+ ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้คือ 1. บุคลากรพยาบาลทุกประเภทส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในกลุ่มงานพยาบาล บุคลากรพยาบาล ที่กระจายไปปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่น พบผู้ช่วยเหลือคนไข้จำนวนมากที่สุด 2. หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าไม่เหมาะสมต่อการที่บุคลากรพยาบาลปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ นอกเหนือกลุ่มงานการพยาบาล แต่หัวหน้าหน่วยงานอื่น ๆ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเหมาะสมอย่างไรก็ตาม หัวหน้าหน่วยงานต่าง ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าดี หากสามารถจัดเตรียมบุคลากรสายตรงในวิชาชีพได้เพราะจะทำให้บุคลากรทำงานตรงตามลักษณะงานส่งผลต่อประสิทธิผลและความก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติ 3. บุคลากรพยาบาลทุกประเภทที่ปฏิบัติงานในกลุ่มงานการพยาบาลเป็นเรื่องเหมาะสม ด้วยเหตุผลอันดับแรกของพยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเทคนิค คือ ได้ทำงานตรงกับความรู้ที่เรียนมา ส่วนเจ้าหน้าที่พยาบาลคือ ทำงานตรงตามขอบเขตสามารถนำไปสู่ความชำนาญเฉพาะทาง ฯลฯ และผู้ช่วยเหลือคนไข้เห็นว่าเหมาะสมเพราะมีตำแหน่งบรรจุนอกจากนี้พบว่าพยาบาลวิชาชีพมีความคิดเห็นด้านที่ 1 (การปฏิบัติงานภายใต้ขอบเขตทางการพยาบาล) ด้านที่ 2 (การพัฒนาทักษะทางการพยาบาล) และด้านที่ 3 (การพัฒนาทักษะทางวิชาการ) สูงกว่าพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนความคิดเห็นด้านที่ 4 (ความก้าวหน้าในวิชาชีพ) ไม่แตกต่างจากพยาบาลเทคนิค เมื่อพิจารณาบุคลากรพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ พบว่า พยาบาลวิชาชีพมีความคิดเห็นต่อด้านที่ 1, 3 และ 4 สูงกว่าพยาบาลเทคนิค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของบุคลากรพยาบาลระหว่างหน่วยงาน พบว่าพยาบาลวิชาชีพและพยาบาลเทคนิคที่ปฏิบัติงานในกลุ่มงานการพยาบาลมีความคิดเห็นต่อด้าน ที่ 1 และ 2 คือ สูงกว่ากลุ่มที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนด้านที่ 3 ต่ำกว่านอกจากนี้ยังพบว่าพยาบาลเทคนิคที่ปฏิบัติงานในกลุ่มงานการพยาบาลมีความคิดเห็นต่อด้าน 4 สูงกว่ากลุ่มที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ 4. บุคลากรพยาบาลมีเหตุผลต่อการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง นอกเหนือกลุ่มงานการพยาบาลหลายประการ เหตุผลที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันแรกคือ พึงพอใจลักษณะงานในความรับผิดชอบ ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งและได้รับการทาบทามและพึงพอใจ 5. การศึกษาภาระงานหลักของบุคลากรพยาบาล ผู้วิจัยแบ่งภาระงานหลักเป็น 2 ลักษณะคือ งานที่มีความสำคัญในหน้าที่และงานที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำ ในงานแต่ละลักษณะจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภท 1 งานการพยาบาล ประเภท 2 งานที่เกี่ยวข้องกับงานการพยาบาล และประเภท 3 งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานพยาบาลโดยสิ้นเชิงปรากฎผลการศึกษาดังนี้ ในงานลักษณะที่ 1 พบว่า บุคลากรทั้ง 4 ประเภทปฏิบัติงานประเภท 1 มากกว่างานประเภท 2 และ 3 ส่วนพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานประเภท 2 มากกว่าประเภท 3 พยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาลปฏิบัติงานทั้ง 2 ประเภทไม่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างบุคลากรพยาบาลเทคนิค แต่ปฏิบัติงานประเภท 2 มากกว่าบุคลากรพยาบาลอีก 3 ประเภทและปฏิบัติงานประเภท 3 น้อยกว่าพยาบาลเทคนิค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในงานลักษณะที่ 2 พบว่า พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานประเภท 1 น้อยกว่า 2 แต่มากกว่าประเภท 3 ส่วนพยาบาลเทคนิคปฏิบัติงานประเภท 1 และ 2 มากกว่างานประเภท 3 และผู้ช่วยเหลือคนไข้ปฏิบัติงานทั้ง 3 ประเภทไม่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างบุคลากรพยาบาลในงานแต่ละประเภทพบว่าพยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค และเจ้าหน้าที่พยาบาล ปฏิบัติงานประเภท 1 ไม่แตกต่างกันส่วนงานประเภท 2 พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติมากกว่าบุคลากรอีก 3 ประเภท และงานประเภทที่ 3 บุคลากรพยาบาลทั้ง 4 ประเภท ปฏิบัติไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.05

Keywords: nurse, psychiatric nursing, พยาบาลจิตเวช, การกระจายตัวของบุคลกรพยาบาล, พยาบาล, บริการพยาบาล, บริการสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 103400501002

ISSN/ISBN: 2559-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: Download รายงานวิจัย คลิกได้ที่นี่ค่ะ PDF Format 1.53MB