ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รติอร พรกุณา

ชื่อเรื่อง/Title: บทบาทและการรับรู้ทางวัฒนธรรมของบุตรสาวในการดูแลบิดา มารดาสูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังในสังคมอีสาน: กรณีศึกษาในจังหวัดขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข (12-15 สิงหาคม 2546 จังหวัดชลบุรี), หน้า 168.

รายละเอียด / Details:

บทนำและวัตถุประสงค์ การเข้าสู่วัยสูงอายุ ทำให้เกิดภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ที่มีผลทำให้ความสามารถในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยลดน้อยลง ในบริบทของสังคมวัฒนธรรมอีสาน ผู้ให้การดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยคือ บุตรสาวผู้อาศัยอยู่ร่วมกัน หรือใกล้เคียงกัน ซึ่งการเข้ามาให้การดูแลบิดา มารดา สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังนั้น บุตรสาวที่ดูแลอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต มีการให้การดูแลแก่บิดา มารดา ที่เจ็บป่วยแตกต่างกันออกไป การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้ และบทบาทการให้การดูแลของบุตรสาวแก่บิดา มารดา สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังในสังคมภาคอีสานของประเทศไทย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผู้ให้ข้อมูลหลัก (Key-Informants) คือบุตรสาวผู้ให้การดูแลหลักแก่บิดา มารดา ผู้สูงอายุ ที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งอาศัยอยู่ร่วมบ้านเดียวกัน หรืออยู่บ้านใกล้เคียงกัน เป็นผู้ให้การดูแลมานานอย่างน้อย 2 เดือน โดยบุตรสาว และบิดา มารดา สูงอายุที่เจ็บป่วยมีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสาน โดยที่มีวิถีชีวิตอยู่ในจังหวัดขอนแก่น อย่างน้อย 2 ปี การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลใช้หลักวิธีการของ โคโลซ์ซี่ (Colaizzi, 1987) โดยจัดเก็บข้อมูลในเขต อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ผลการศึกษาพบว่า การที่บุตรสาวให้การดูแลบิดา มารดา สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังนั้น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของความคิดและวิถีชีวิตของบุตรสาวที่ให้การดูแล คือ ในระยะแรกของการเข้าสู่บทบาท ผู้ดูแล บุตรสาวจะรับรู้ว่ามีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น และ ตระหนักว่าจะต้องมีผู้ให้การดูแล โดยบุตรสาวจะยอมรับการเข้ามาเป็นผู้ดูแล โดยเกิดจากความสมัครใจ ที่เกิดจากความรัก ความผูกพัน และจากภาวะจำยอม โดยการให้การดูแล จะเป็นการดูแลโดยการเป็นผู้จัดการในครอบครัว ควบคู่กับการเป็นผู้ดูแลสุขภาพ กาย ใจ และจิตวิญญาณของบิดา มารดา ซึ่งการเข้าเป็นผู้ดูแลจะทำให้เกิดผลกระทบติดตามมาต่อบุตรสาวผู้ดูแล คือ ผลกระทบต่อร่างกาย ต่อสุขภาพที่ทรุดโทรม ด้านจิตใจ คือ การเกิดความเครียด และด้านสังคม การแยกตัวจากสังคมมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของผู้ดูแล คือการหยุด หรือลาออกจากงาน เพื่อมาให้การดูแล ซึ่งจะทำให้มีทัศนคติต่อความเจ็บป่วย และการต้องเป็นผู้ดูแลว่าเป็นงานที่น่าเบื่อหน่าย และไร้จุดจบ แต่ในท้ายที่สุด เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้กับการเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรังอยู่ตลอดเวลา บุตรสาวผู้ดูแลจะปรับความคิด ทัศนคติต่อการเป็นผู้ดูแล โดยการใช้ความเชื่อทางศาสนา บรรทัดฐานของสังคมวัฒนธรรม จารีต ประเพณี และความผูกพันโดยสายเลือด โดยให้ความหมายของการดูแลว่าเป็นการทำความดี และเป็นภาระกิจที่บุตรสาว ควรกระทำ เพื่อให้บุตรสาวผู้ดูแลมีความสุข ความสมดุลในการดำเนินชีวิต วิจารณ์และสรุป การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเป็นการศึกษาเฉพาะกลุ่มบุตรสาวที่ดูแลบิดา มารดา สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรังที่เป็นคนอีสาน จำนวน 10 ราย การนำผลการวิจัยไปศึกษาอ้างอิงนั้น ไม่สามารถที่จะอธิบายได้กว้างขวางในทุกบริบทสังคม การนำผลการวิจัยไปศึกษาอ้างอิงนั้น ทำได้ในบริบทที่ใกล้เคียงบริบทของสังคมวัฒนธรรมอีสานเท่านั้น

Keywords: การรับรู้ทางวัฒนาธรรม, ผู้สูงอายุ, การเจ็บป่วยเรื้อรัง, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลขอนแก่น จ.ขอนแก่น

Code: 000000066

ISSN/ISBN: 974-9627-39-3

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ปี 2546

Download: -