ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมชาย พลอยเลื่อมแสง

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดและภาวะซึมเศร้าของคนไทยในเขตสาธารณสุข 10

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง กันยายน 2540 - เมษายน 2541/ปีที่ 13 ฉบับที่ 3

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ ก็เพื่อหาระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าของคนไทยที่อยู่ในเขตสาธารณสุข 10 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 830 คน ได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอนจังหวัดที่สุ่มได้ คือ เชียงใหม่ ลำพูน และพะเยา กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในครั้งนี้เป็นชาย 36.1% เป็นหญิง 63.9% อายุ 17-87 ปี (เฉลี่ย 44.9ปี), 72% สมรสแล้วและอาศัยอยู่ด้วยกัน ,มีบุตรตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปจำนวน 33.5% ระดับการศึกษาส่วนใหญ่ (65.0%) ไม่เกินชั้นประถมปีที่ 4, อาชีพหลัก 47.3% เป็นเกษตรกร, รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 3,000 บาท (74.6%) โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2541 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบวัดอาการซึมเศร้า Beck Depression Inventory และแบบวัดความเครียดสวนปรุง (Suanprung stress Test) ชุด 20 ข้อ ผลการศึกษาที่ได้ พบว่า ทั้งสามจังหวัดมีระดับความเครียดและระดับความรุนแรงของอาการซึมเศร้าแตกต่างกัน (p‹0.05) โดยรวมแล้วมีความเครียดอยู่ในระดับสูงถึงรุนแรงคิดเป็น 42.1% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ก่ออันตรายกับร่างกายได้หากปล่อยให้เกิดขึ้นติดต่อกัน เป็นเวลานาน ปัจจัยทางประชากรที่มีความสัมพันธ์กับระดับความเครียดมีเพียงอาชีพหลักของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น โดยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะเครียดสูงกว่าคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว ,ข้าราชการ ,พ่อบ้านแม่บ้าน,กรรมกร, ลูกจ้าง/พนักงาน และคนที่อยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไรตามลำดับ ในส่วนของภาวะซึมเศร้าพบว่า 29.7% ของกลุ่มตัวอย่างมีอาการซึมเศร้าอยู่ในระดับสูงถึงรุนแรง ปัจจัยทางด้านเพศ, อายุ, ระดับการศึกษา, อาชีพ, จำนวนบุตรที่มี, รายได้ และสถานภาพสมรส ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับระดับของอาการซึมเศร้าเลย ยกเว้นความเครียดเท่านั้นโดยคนที่มีความเครียดในระดับสูงมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าในระดับสูงตามไปด้วย จากการศึกษาในครั้งนี้เห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างในเขตสาธารณสุข 10 มีความเครียดและอาการซึมเศร้าในระดับสูงถึงรุนแรงจำนวนมาก ซึ่งหากปล่อยให้อยู่สภาพอย่างนี้เป็นเวลานานอาจเกิดปัญหารุนแรงอย่างอื่นตามมาได้ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนจะต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ให้สามารถจัดการ และรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นให้ลดลง

Keywords: ความเครียด, เครียด, จิตวิทยา, สุขภาพจิต, ภาวะเครียด, ชุมชน, ซึม, ซึมเศร้า, ภาวะซึมเศร้า, โรคซึมเศร้า, เศร้า, อาการซึมเศร้า

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 105401303007

ISSN/ISBN: 0857-2127

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -