ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จันทร์ทิพย์ นามไชย, ประหยัด ประภาพรหม

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่จำเป็นต่อบริการพยาบาลจิตเวชเชิงวิชาชีพในโรงพยาบาลจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง กันยายน 2540 - เมษายน 2541/ปีที่ 13 ฉบับที่ 3

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาความสัมพันธ์เกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่จำเป็นต่อบริการพยาบาลจิตเวชเชิงวิชาชีพในโรงพยาบาลจิตเวช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ ระดับทัศนคติ ระดับการปฏิบัติ และระดับความจำเป็นของกิจกรรมการพยาบาลและข้อมูลทั่วไปของบุคลากรทางการพยาบาล และศึกษาเปรียบเทียบความรู้ทัศนคติ การปฏิบัติและความจำเป็นของกิจกรรมการพยาบาลในโรงพยาบาลจิตเวชของพยาบาลวิชาชีพ จำแนกตามระยะเวลาการปฏิบัติงาน และการอบรมเกี่ยวกับสุขภาพจิต และการพยาบาลจิตเวชได้กลุ่มตัวอย่าง โดยวิธีการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการพยาบาลที่จำเป็นต่อการบริการพยาบาลจิตเวช แบบสอบถามความจำเป็นเกี่ยวกับกิจกรรมการ พยาบาลที่จำเป็นต่อบริการพยาบาลจิตเวชในโรงพยาบาลจิตเวช แบบวัดทัศนคติเกี่ยวกับกิจกรรมการพยาบาลที่จำเป็นต่อบริการพยาบาลจิตเวชที่มีคุณภาพในโรงพยาบาลจิตเวชและแบบสอบถามการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่จำเป็นต่อบริการพยาบาลจิตเวชที่มีคุณภาพในโรงพยาบาลจิตเวช เครื่องมือทั้งหมดได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ ซึ่งได้ความเชื่อมั่นเท่ากับ .94 , .98, .82 และ .97 ตามลำดับ ผลการวิจัยพบว่า 1. บุคลากรทางการพยาบาล มีความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการพยาบาลที่จำเป็นต่อบริการพยาบาลจิตเวชเชิงวิชาชีพ ร้อยละ 62.21 ของคะแนนเต็ม เมื่อพิจารณาตามตำแหน่ง พบว่าพยาบาลวิชาชีพมีความรู้มากที่สุด คือร้อยละ 71.73 รองลงมาคือพยาบาลเทคนิค เจ้าหน้าที่พยาบาลและผู้ช่วยเหลือคนไข้คือร้อยละ 64.60 ,60.12 และ 54.61 ของคะแนนเต็มตามลำดับ 2. บุคลากรทางการพยาบาล มีทัศนคติเกี่ยวกับกิจกรรมการพยาบาลจิตเวชเชิงวิชาชีพอยู่ในระดับดี เมื่อพิจารณาตามตำแหน่งพบว่าพยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค เจ้าหน้าที่พยาบาล และผู้ช่วยเหลือคนไข้ มีทัศนคติอยู่ในระดับดีทุกกลุ่ม 3. บุคลากรทางการพยาบาลมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นของกิจกรรมการพยาบาลที่จำเป็นต่อบริการพยาบาลจิตเวชเชิงวิชาชีพ ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณากิจกรรมการพยาบาลรายด้าน พบว่า พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค และเจ้าหน้าที่พยาบาล มีความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมการพยาบาลด้านร่างกาย และด้านการบำบัดทางจิต ในระดับมาก ส่วนด้านการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการบำบัด ด้านการสอนทางสุขภาพในระดับปานกลาง ผู้ช่วยเหลือคนไข้ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจกรรมการพยาบาลด้านร่างกายและด้านการบำบัดรักษาทางจิต ในระดับมาก ด้านการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการบำบัดในระดับน้อย ส่วนด้านการสอนทางสุขภาพในระดับปานกลาง 4. บุคลากรทางการพยาบาลปฏิบัติกิจกรรมพยาบาลที่จำเป็นต่อบริการพยาบาลจิตเวชเชิงวิชาชีพในระดับการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ เมื่อพิจารณากิจกรรมการพยาบาลรายด้าน พบว่า พยาบาลวิชาชีพ ปฎิบัติกิจกรรมการพยาบาลด้านร่างกาย ด้านการบำบัดทางจิต ด้านการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการบำบัด และด้านการสอนทางสุขภาพอยู่ในระดับปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ พยาบาลเทคนิค ปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลด้านร่างกายและการบำบัดทางจิต อยู่ในระดับเป็นส่วนใหญ่ ปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลด้านการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการบำบัด และด้านการสอนทางสุขภาพอยู่ในระดับเป็นบางครั้ง เจ้าหน้าที่พยาบาล ปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลด้านร่างกายด้านการบำบัดทางจิต และด้านการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการบำบัด อยู่ในระดับเป็นส่วนใหญ่ และปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลด้านการสอนทางสุขภาพอยู่ในระดับปฏิบัติเป็นบางครั้ง ผู้ช่วยเหลือคนไข้ ปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลด้านร่างกาย อยู่ในระดับเป็นส่วนใหญ่ปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลด้านการบำบัดทางจิต ด้านการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการบำบัดและด้านการสอนทางสุขภาพอยู่ในระดับปฎิบัติเป็นบางครั้ง 5. จากการศึกษาความสัมพันธ์พบว่า ความรู้ทัศนคติ การปฏิบัติและความจำเป็นเกี่ยวกับกิจกรรมการพยาบาล มีความสัมพันธ์ทางบวกกับ ตำแหน่ง การอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 แต่ทัศนคติและความจำเป็นของกิจกรรมการพยาบาลมีความสัมพันธ์ทางลบกับอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 ตามลำดับ 6. จากการศึกษาเปรียบเทียบความรู้ ทัศนคติ การปฏิบัติ และความจำเป็นของกิจกรรมการพยาบาล ของพยาบาลวิชาชีพ จำแนกตามการอบรม และระยะเวลาการปฏิบัติงาน พบว่าไม่มีความแตกต่างกัน

Keywords: nurse, psychiatric nursing, พยาบาลจิตเวช, กิจกรรมพยาบาล, ปฏิบัติการพยาบาล, บริการพยาบาลจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 105401303008

ISSN/ISBN: 0857-2127

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -