ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุวัฒน์ มหัตนิรันดร์กุล, วนิดา พุ่มไพศาลชัย, พิมพ์มาศ ตาปัญญา

ชื่อเรื่อง/Title: การสร้างแบบวัดความเครียดสวนปรุง

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง กันยายน 2540 - เมษายน 2541/ปีที่ 13 ฉบับที่ 3, 1-20

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเครื่องมือวัดความเครียดสำหรับคนไทย โดยจะแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกจะวัดความเปราะบางหรือความไวต่อความเครียดส่วนที่สองจะวัดสาเหตุที่มาของความเครียดในด้านการงาน ครอบครัว ส่วนตัว สังคม สิ่งแวดล้อมและการเงิน ส่วนที่สามจะเป็นการวัดปฏิกริยาหรืออาการของความเครียด แบ่งตามระบบสรีระวิทยา คือ อาการเครียดทางกล้ามเนื้อโครงกระดูก ระบบประสาทพาราซิมพาเธติค ระบบประสาทซิมพาเธติค, อารมณ์, ความคิด, ระบบต่อมไร้ท่อ และระบบภูมิคุ้มกัน ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย เริ่มด้วยขั้นแรกเป็นการรวบรวมหัวข้อคำถามที่เกี่ยวกับความเครียดจากการทบทวนเอกสาร ทำการตรวจสอบความตรงทางด้านเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ นำไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง 149 คน แล้วปรับปรุงแบบวัดความเครียด ขั้นที่สอง การหาคุณภาพของเครื่องมือโดยการหาความตรงสภาพในกลุ่มตัวอย่าง 523 คน เครื่องมือมาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบ คือ ค่าความเครียดของกล้ามเนื้อ (Electromyography, EMG) ขั้นตอนที่สาม การแบ่งระดับความเครียดของแบบวัดความเครียดที่ได้สร้าง ซึ่งแบ่งเป็นสี่ระดับ คือ เครียดต่ำ เครียดปานกลาง เครียดสูง เครียดรุนแรง โดยใช้คะแนนปกติที(Normalized T-score) ในการแบ่งโดยอิงตามค่า EMG ที่ใช้เป็นมาตรฐาน ขั้นตอนที่สี่ การปรับให้เครื่องมือมีขนาดเล็กลง พร้อมทั้งหาคุณภาพของแบบวัดที่ได้ ใช้สถิติวิเคราะห์ปัจจัยเพื่อสกัดตัวปัจจัยให้เหลือข้อคำถามน้อยลง ทั้งนี้ข้อคำถามที่เหลือจะต้องมีค่าความเชื่อมั่นมากกว่า 0.7 และยังคงสัมพันธ์กับค่า EMG ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการปรับเครื่องมือให้เหมาะสำหรับนำไปใช้ในงานสำรวจอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งหาคุณภาพของแบบวัดที่ได้ โดยการนำแบบวัดที่ได้จากขั้นตอนที่สี่มาวิเคราะห์ปัจจัย และหาคุณภาพซ้ำอีกครั้งให้เหลือข้อคำถามน้อยที่สุด ผลการวิจัยจะได้แบบวัดความเครียดสวนปรุงทั้งหมดสามชุด คือ ชุด 104 ข้อ (SPST -104), ชุด 60 ข้อ (SPST - 60) และชุด 20 ข้อ (SPST -20) ซึ่งทุกชุดจะมีค่าความน่าเชื่อถือคอร์นบาค แอลฟ่า มากกว่า 0.7 และมีความแม่นตรงตามสภาพมากกว่า 0.27 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่ออิงตามค่า EMG ที่ช่วงความเชื่อมั่น 95% แบบทดสอบที่ได้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในงานศึกษาวิจัยเชิงสำรวจหรือวิเคราะห์ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งในงานทางคลินิก เช่น ในคลินิกคลายเครียด เป็นต้น

Keywords: แบบวัดความเครียด, ความเครียด, เครียด, จิตวิทยา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, แบบคัดกรอง, แบบทดสอบ, แบบประเมิน, แบบวัด, stress test

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 105401303019

ISSN/ISBN: 0857-2127

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -