ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กิตติพงศ์ สานิชวรรณ, วนิดา พุ่มไพศาลชัย

ชื่อเรื่อง/Title: เทคนิคอย่างง่ายในการรักษาแผลกดทับและแผลไฟไหม้ในผู้ป่วยจิตเวชด้วยว่านหางจระเข้

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง พฤษภาคม-สิงหาคม 2541 ปีที่ 14

รายละเอียด / Details:

ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรที่หาได้ง่ายรู้จักกันมานาน แต่การนำมาใช้อย่างจริงจัง ในโรงพยาบาลกลับไม่แพร่หลาย อาจเนื่องจากความไม่มั่นใจหรือความยุ่งยากในขั้นตอนการนำมาใช้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ที่จะหาวิธีที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว แต่ใช้ได้ผลในการรักษาแผลกดทับและแผลไฟไหม้ด้วยว่านหางจระเข้ในผู้ป่วยจิตเวช โดยได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยจิตเวช ที่มีแผลกดทับที่ก้น มี 3 ราย และผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้ผิวหนังลึกบางส่วน (second degree) และลึกทั้งชั้น (third degree) รวมพื้นที่ที่ถูกไฟไหม้ประมาณ 25 % อีก 1 ราย วุ้นหางจระเข้ที่ได้จากการนำใบมาปอกเอาวุ้นข้างใน ล้างด้วยน้ำเพื่อเอายางที่ติดมาออกไป ปั่นหรือสับให้ละเอียดควรใช้ภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากปอกแล้ว วิธีการรักษาแผลกดทับก็คือให้ล้างแผลด้วย H 2 O 2 ขูดลอกเนื้อตาย และแบคทีเรีย ออกจากแผลตามด้วยน้ำเกลือ 0.9 % จากนั้นใส่น้ำวุ้นว่านหางจระเข้ใส่ที่แผลกดทับให้ชุ่มอยู่ตลอดเวลา ปิดด้วยผ้ากอส ทำแผลเช้า-เย็น และคอยพลิกตัวผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยแผลกดทับรายแรกใช้เวลารักษา 54 วันเนื้อจะงอกขึ้นมาเต็มแผลหายเกือบสนิทเหลือบริเวณที่ผิวหนังยังเปิดอยู่ประมาณ 25 ตร.ซม. ญาติมารับตัวกลับไปก่อน ส่วนอีกสองรายแผลหายสนิท สำหรับการรักษาแผลไฟไหม้จะทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ 0.9 % ตัดหรือขูดเนื้อตายที่ยุ่ย ๆ ออกให้หมดทุกครั้งที่ทำแผล ปิดแผลด้วยผ้ากอสที่ชุ่มด้วยน้ำวุ้นว่านหางจระเข้ ทำแผลเช้า เย็น อย่าให้แผลแห้ง ผู้ป่วยรายนี้ได้รับอิเลคโตรไลท์ดื่มแทนน้ำ พร้อมทั้งคอยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด รักษานาน 10 สัปดาห์ แผลหายสนิททุกส่วน มีแผลเป็นเล็กน้อย จะเห็นได้ว่าเทคนิคนี้เป็นวิธีการนำวุ้นว่านหางจระเข้มาใช้ในการรักษาที่ง่ายที่สุด เนื่องจากการเตรียมวุ้นหางจระเข้และขั้นตอนการทำแผลง่ายขึ้นไม่ต้องระวังเรื่องเทคนิคปลอดเชื้อ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะให้ผลการรักษาดีด้วยต้นทุนในการรักษาต่ำเทคนิคอย่างง่ายในการใช้ว่านรักษาแผลนี้สามารถเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักวิธีใช้เพื่อให้เกิดความมั่นใจที่จะนำสมุนไพรพื้นบ้านที่หาได้ง่ายและมีประสิทธิภาพดีมาใช้รักษาแต่อุปสรรคสำคัญต่อการนำว่านมาใช้คือต้องใช้วุ้นที่ปอกและเตรียมใหม่ ๆ เนื่องจากยังไม่ทราบว่าตัวยาสำคัญในวุ้นมีความคงตัวอยู่ได้นานเพียงใด

Keywords: drug, pharmacy, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, เภสัชกรรม, ยา, สมุนไพร

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 105411401030

ISSN/ISBN: 0857-2127

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -