ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปริทรรศ ศิลปกิจ, พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์, วนิดา พุ่มไพศาลชัย

ชื่อเรื่อง/Title: ความชุกและสภาวะสุขภาพจิตของคนไทยที่ติดสุรา

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง พฤษภาคม-สิงหาคม 2541 / ปีที่ 14 ฉบับที่ 1

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้เพื่อสำรวจความชุกและสภาวะสุขภาพจิตของการติดสุราของคนไทยและภาวะสุขภาพจิตในรูปของความเครียด, อาการซึมเศร้า ความคิดอยากฆ่าตัวตาย และความคิดอยากฆ่าผู้อื่น และเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการติดสุราในคนไทย กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มแบบกลุ่มหลายขั้นตอน (Multiple-stage cluster sampling) จาก 12 เขตทางสาธารณสุขทั่วประเทศในช่วง มกราคม-มีนาคม 2541 เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ แบบสอบถาม, ข้อมูลทั่วไป, แบบคัดกรอง CAGE, แบบวัดความเครียดสวนปรุง, แบบวัดอาการซึมเศร้าของเบค, แบบสำรวจความคิดอยากฆ่าตัวตายและคิดฆ่าผู้อื่น กลุ่มตัวอย่างจำนวน 7,789 คน เป็นชาย 34.3 % เป็นหญิง 65.7 % อายุอยู่ระหว่าง 17-87 ปี (เฉลี่ย 38.9 ปี) สถานภาพสมรส 76.0 % แต่งงานแล้ว, 31.8 % มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป 64.8 % มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา, อาชีพหลัก (50.3 %) เป็นเกษตรกร/ประมง, 67.1 % มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน, 23.6 % มีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับไม่พอใช้ ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นหรือต้องกู้ยืมจากคนอื่น, 52.9 % มีภาวะต้องรับผิดชอบทางด้านการเงินต่อบุคคลอื่น, 77.2 % จะมีบ้านหรือที่ดินเป็นของตนเอง, 71.8 % อาศัยอยู่ในบ้านของตนเอง, 75.1 % จะมีคนอาศัยอยู่ในบ้านตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป จากการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 9.3 % อยู่ในเกณฑ์ที่จะติดสุรา อีก 8.3 % เข้าข่ายน่าสงสัย จังหวัด,เขต หรือภาคที่แตกต่างกันจะมีอัตราการติดสุราต่างกัน (P ‹ 0.05) โดยจังหวัดที่มีอัตราการติดสุราสูงสุดคือ บุรีรัมย์ (13.7 %) ต่ำสุดคืออุบลราชธานี (2.8 %) เขตที่ติดสุราสูงสุดคือ เขต 3 (13.7 %) ต่ำสุดคือเขต 11 (4.9 %) ภาคที่ติดสุรามากที่สูงสุดคือภาคตะวันออก (13.7 %) ต่ำสุดคือภาคใต้ (5.2 %) , 38.2 % มีความเครียดอยู่ในระดับสูงหรือรุนแรง , 38.1 % มีอาการซึมเศร้าอยู่ในระดับที่ถือว่าควรจะไปพบแพทย์ , 7.6 % มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย , 5.4 % จะมีความคิดอยากฆ่าผู้อื่น โดยเมื่อมองเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในเกณฑ์ติดสุราแล้ว 51.2 % ของคนที่ติดสุราจะมีความเครียดอยู่ในระดับสูงหรือรุนแรง, 48.6 % มีอาการซึมเศร้าในระดับที่จะต้องไปพบแพทย์หรือผู้รู้, 11.9 % จะมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย, 11.3 % จะมีความคิดอยากฆ่าผู้อื่น เห็นได้ว่าอัตราการติดสุรามีความสัมพันธ์กับภาวะความเครียดและอาการซึมเศร้าสูงมาก อาจเป็นเพราะว่าประชาชนส่วนหนึ่งเมื่อมีปัญหาทางจิตใจขึ้นแล้ว ใช้การดื่มสุราเป็นทางออก ซึ่งเป็นวิธีการจัดการกับปัญหาทางสุขภาพจิตในลักษณะที่อาจจะก่อปัญหาอย่างอื่นตามมาในภายหลัง ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตควรจะส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักนำวิธีการจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นแบบมุ่งแก้ไขที่ปัญหาให้มากขึ้น

Keywords: alcoholism, CAGE, stress, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรคพิษสุรา, ความชุก, ระบาดวิทยา, สุรา, เหล้า, สารเสพติด, ยาเสพติด

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 105411401034

ISSN/ISBN: 0857-2127

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -