ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มนตรี นามงคล, วรรธนีย์ เตชะสุข, อัจนาเชาว์ประยูร, เหวินเจา ชุติมา, ชาตรี ศรีระวงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: เปรียบเทียบความเครียด ความคิดอยากฆ่าตัวตาย และความคิดอยากฆ่าตัวตาย และความคิดอยากฆ่าผู้อื่น ของข้าราชการในจังหวัดเชียงใหม่

แหล่งที่มา/Source: วารสารสวนปรุง ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม - สิงหาคม 2541,11-17

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความเครียด ความคิดอยากฆ่าตัวตาย และความคิดอยากฆ่าผู้อื่น ของข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข, ข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ 10 อำเภอ ที่สุ่มได้จากอำเภอทั้งหมดของจังหวัดเชียงใหม่ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,728 คน เป็นชาย 764 คน (44.2%) เป็นหญิง 964 คน (55.8%) อายุระหว่าง 19-60 ปี (เฉลี่ย 36.73 + 11.69 ปี) แบ่งเป็นข้าราชการสาธารณสุข 436 คน ตำรวจ 422 คน และครู 870 คน ทุกคนสมัครใจตอบแบบสอบถามที่ประกอบด้วยคำถาม 4 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป คำถามที่สำรวจความคิดอยากฆ่าตัวตาย ความคิดอยากฆ่าผู้อื่น และแบบวัดความเครียดสวนปรุงชุด 60 ข้อ ผลการวิจัยพบว่า ข้าราชการครูมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เกื้อหนุนให้ปรับตัวรับกับความเครียดได้มากกว่า ทำให้มีระดับความไวที่จะเกิดความเครียดต่ำกว่าข้าราชการสาธารณสุข และตำรวจสาเหตุที่ทำให้ข้าราชการมีความเครียดในระดับสูงถึงรุนแรง ส่วนใหญ่จะมาจากเรื่องเงิน ครอบครัวและสิ่งแวดล้อม โดยตำรวจจะเครียดมากที่สุด (27.8%) รองลงมาคือข้าราชการสาธารณสุข (26.8%) และครู (27.8%) จากการศึกษาถึงความสัมพันธ์พบว่า ระดับความเครียดจะมีความสัมพันธ์กับอายุ, อายุราชการ, รายได้ ในเชิงลบ นอกจากนี้ยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับ สถานภาพสมรส, การศึกษา, จำนวนบุตรที่มี, การอาศัยอยู่ร่วมกันกับครอบครัว, สาขาอาชีพราชการ (P‹0.05) ข้าราชการตำรวจจะมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และฆ่าผู้อื่นสูงสุด (14.9% และ 28.4%) รองลงมาคือ ข้าราชการสาธารณสุข (11.6% และ 13.9%) และครู (7.7% และ 11.4%) ตามลำดับ 55.9% ของข้าราชการที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายจะมีความคิดอยากฆ่าผู้อื่นด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าความคิดอยากฆ่าตัวตายและฆ่าผู้อื่นนั้น นอกจากจะสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ แล้วยังมีความสัมพันธ์กับระดับความเครียดที่เกิดขึ้นนั่นคือ ถ้ามีความเครียดในระดับสูงจะเกิดความคิดเหล่านี้ได้สูง ผลการวิจัยที่ได้ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มข้าราชการส่วนหนึ่งต้องการความช่วยเหลือดูแลทางด้านจิตใจอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจ เพื่อป้องกันอันตรายอันเนื่องมาจากความเครียด ความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือความคิดอยากฆ่าผู้อื่น ที่เกิดขึ้น สภาพสังคม ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา บ้านเมืองเจริญเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรมประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อความอยู่รอดมี การแก่งแย่งแข่งขันสูงขึ้น บ้านเมืองเจริญขึ้นมากเท่าใด สุขภาพจิตของผู้คนก็เสื่อมลงมากยิ่งขึ้น องค์การอนามัยโลกได้วิเคราะห์ว่านับแต่นี้ต่อไปปัญหาการเจ็บป่วยทางจิตจะเป็นปัญหาสำคัญอันดับสองรองจากโรคหัวใจ (กรุงเทพธุรกิจ, 2540, หน้า 10) ปรีชา อินโท (2540) กล่าวถึงข้อมูลการสำรวจสุขภาพจิตของคนไทย โดยความร่วมมือของสวนดุสิตโพลในขั้นต้นพบว่า สาเหตุ ที่เกิดอาการเครียด 5 อันดับแรกได้แก่ 1) หน้าที่การงาน 2) เศรษฐกิจ 3) การเรียน 4) ปัญหาการจราจร 5) ปัญหาครอบครัว เมื่อบุคคลมีความเครียดเกิดขึ้น บุคคลจะพยายามลดหรือควบคุมความรุนแรงของความเครียดด้วยพฤติกรรมเผชิญภาวะเครียด ในหลายรูปแบบหากบุคคลมีพฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดที่เหมาะสม ความเครียดที่เกิดขึ้นจะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นความเครียดที่ช่วยให้บุคคลมีพัฒนาการที่ดี สามารถปรับตัวได้ และประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่ในทางตรงกันข้ามความเครียดที่เกิดในระดับสูงและมีความต่อเนื่องเป็นเวลานานหรืออาจเป็นผลจากการที่บุคคลไม่สามารถเผชิญภาวะเครียดได้อย่างเหมาะสม จะก่อให้เกิดผลเสียตามมาได้ Farmer และเพื่อน (1987) ได้กล่าวถึงผลของความ เครียดเรื้อรังต่ออารมณ์ โดยเขาได้แบ่งอารมณ์ที่เกิดความเครียดเรื้อรัง เป็น 2 กลุ่ม คือ อารมณ์เศร้า และวิตกกังวลบางคนนำพฤติกรรมหลาย ๆ อย่าง มาใช้ลดความรู้สึกวิตกกังวล และซึมเศร้า เช่น การกิน การดื่ม การใช้ยา การนอนหลับ การออกกำลังกาย แยกตัว หรือการฆ่าตัวตาย ข่าวที่ปรากฎการฆ่าตัวตาย หรือการฆ่าผู้ที่ทำให้โกรธหรือคับแค้นใจ การวิจัยในครั้งนี้มุ่งที่จะศึกษาภาวะเครียด และสำรวจความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือความคิดอยากฆ่าผู้อื่นของข้าราชการในสังกัด กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ และครู ซึ่งเป็นสาขาอาชีพที่ต้องทำงาน เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์โอกาสที่จะเกิดความเครียดมีได้มาก ความเครียดขนาดสูงที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และสุขภาพของบุคคลนั้น ๆ ได้ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการศึกษาในครั้งนี้ คือ ได้ทราบระดับความรุนแรงของปัญหาทางสุขภาพจิตของข้าราชการในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำหรับให้การช่วยเหลือต่อไป

Keywords: การฆ่าตัวตาย, ความเครียด, เครียด, ฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, ความคิดอยากฆ่าตัวตาย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ศูนย์สุขภาพจิต 10 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 105411402029

ISSN/ISBN: 0857-2127

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -