ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัจฉรา จรัสสิงห์, จุฬารัตน์ วิเรขะรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: สมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเองของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญา

แหล่งที่มา/Source: วารสารโรงพยาบาลศรีธัญญา ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม - สิงหาคม 2539,122-131

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเองของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญาใน 3 ด้านคือ ด้านการใช้กระบวนการพยาบาล ด้านการพยาบาลทั่วไป ด้านการพยาบาลจิตเวช เปรียบเทียบสมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเองของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญาจำแนกตามการอบรมทางการพยาบาลจิตเวช และประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ตัวอย่างประชากรในการวิจัยเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศรีธัญญา จำนวน 95 คน โดยตอบแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยผ่านการทดสอบค่าความเที่ยงแล้ว โดยมีผลการวิจัยดังนี้ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญา มีสมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเอง โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง สมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเองของพยาบาลวิชาชีพที่เคยได้รับ และไม่เคยได้รับการอบรมทางการพยาบาลจิตเวชมีสมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเอง โดยรวมและรายด้านทุกด้านไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05, สมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเองของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญา พบว่าพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญาทั้งที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานน้อยกว่าและที่มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานมากกว่ามีสมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเองโดยรวม และรายด้านทุกด้านไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผู้ป่วยจิตเวชเป็นบุคคลที่มีปัญหาในการปรับตัวเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เขาไม่สามารถที่จะสร้างคุณค่าหรือหาความหมายให้แก่ชีวิต การดำเนินชีวิตจึงเป็นไปอย่างไร้จุดหมายความขมขื่นของชีวิต ทำให้เขาหนีออกไปจากความเป็นจริง มีการสนองตอบต่อบุคคลรอบตัวในลักษณะที่ไม่มีความแน่นอนไม่มีแก่นสารของความจริงของชีวิต พฤติกรรมการแสดงออกของผู้ป่วยจึงไม่อยู่ในขอบข่ายที่สังคมยอมรับได้ ทำให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ในครอบครัว สังคม จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากบุคลากรทางจิตเวช พยาบาลเป็นสมาชิกหนึ่งของทีมจิตเวช ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุด และติดต่อกับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นบุคคลแรกที่จะต้องช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับ และเข้าใจอดีตของเขาให้เขาใช้ชีวิตปัจจุบันอย่างเต็มที่ และมองออกไปสู่อนาคตอย่างมีความหมาย พยาบาลจะต้องช่วยให้เขาประจักษ์ว่าแบบแผนการดำรงชีวิตของตนนั้นอะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษต่อสุขภาพจิตของเขา รวมทั้งช่วยให้เขาทราบทางเลือกทั้งหมดด้วย การพยาบาลจิตเวช ถือได้ว่าเป็นการพยาบาลเฉพาะสาขา พยาบาลผู้ปฏิบัติต้องใช้ศิลปะการใช้ตนเองอย่างมีเทคนิค มาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล ต้องใช้ทักษะเฉพาะอย่างโดยเฉพาะการสร้างสัมพันธภาพการรักษา ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติการพยาบาลจิตเวช พยาบาลจิตเวชนอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้ป่วยแล้ว ยังต้องตัดสินใจปฏิบัติการพยาบาลที่จะต้องมีผลกระทบต่อความคิดของครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของผู้ป่วยด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย ทั้งก่อนมาโรงพยาบาลและหลังกลับ จากโรงพยาบาล การปฏิบัติการพยาบาลบนหอผู้ป่วยจิตเวช นอกจากจะใช้หลักการดังกล่าวแล้วยังต้องยึดหลักการพยาบาลแบบองค์รวม (Holistic Nursing Care) กล่าวคือเป็นการพยาบาลที่มองคนทั้งคนเป็นหน่วยเดียวที่มีการผสมผสานระหว่างร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณออกมาเป็นหนึ่งเดียว นั่นคือพยาบาลจิตเวชจะต้องปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติการพยาบาลจิตเวช เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้กลับคืนสู่สภาพปกติและกลับสู่สังคมเดิมของตนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และพบว่ามีรายงานวิจัยที่บ่งชี้ถึงคุณภาพการปฎิบัติการพยาบาลของพยาบาลที่ปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วยจิตเวชที่น่าสนใจ คือ ผลการศึกษาของ จารุวรรณ เอกอรมัยผล ที่ได้วิเคราะห์ปฏิกิริยาสัมพันธ์ของพยาบาลกับผู้ป่วยในหอผู้ป่วยจิตเวชแล้วได้ข้อค้นพบหนึ่งว่า พยาบาลจิตเวชส่วนใหญ่แสดงพฤติกรรมความสนใจผู้ป่วยตามลักษณะงานประจำสอดคล้องกันกับผลการศึกษาของจุฬารัตน์ วิเรขะรัตน์ ที่พบว่าพยาบาลจิตเวชที่เป็นตัวอย่างประชากรร้อยละ 51.16 ปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลโดยมุ่งงานประจำร้อยละ 27.91 ที่ปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลโดยมุ่งผู้ป่วย และพบว่าร้อยละ 20.93 ที่ไม่ปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลในชั่วโมงสำคัญที่ผู้ป่วยต้องได้รับการพยาบาลตามที่กำหนดไว้ในกิจกรรมการพยาบาลในแต่ละวัน ฟาริดา อิบราฮิม ได้อธิบายว่า ค่านิยมในวัฒนธรรมของระบบข้าราชการมุ่งที่ความสำเร็จของงาน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พยาบาลมุ่งที่จะปฏิบัติงานประจำในแต่ละวันให้เสร็จตรงตามเวลาที่กำหนด และเกี่ยวข้องกับการที่พยาบาลจิตเวชขาดทักษะในการปฏิบัติการพยาบาลจิตเวช จึงเป็นผลให้พยาบาลจิตเวชส่วนใหญ่เลือกที่จะปฏิบัติงานประจำมากกว่า วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. เพื่อศึกษาสมรรถภาพในการปฎิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเองของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญาใน 3 ด้านคือ ด้านการใช้กระบวนการพยาบาล ด้านการพยาบาลทั่วไป ด้านการพยาบาลจิตเวช 2. เพื่อเปรียบเทียบสมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเองของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญา จำแนกตามการอบรมทางการพยาบาลจิตเวช และประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 1. ทราบสถานการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานโรงพยาบาลศรีธัญญา 2. สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติการพยาบาลของพยาบาลวิชาชีพให้สูงขึ้น และเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อการปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ในหอผู้ป่วยจิตเวชต่อไป วิธีดำเนินการวิจัย การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบบรรยาย (Descriptive Research) โดยมุ่งที่จะศึกษาลักษณะของสมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลตามการรับรู้ตนเองของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลศรีธัญญา และเปรียบเทียบสมรรถภาพในการปฏิบัติการพยาบาลจำแนกตามการอบรมทางการพยาบาลจิตเวช และประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ประชากรและตัวอย่างประชากร ประชากรที่ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการพยาบาลวิชาชีพ ที่ปฏิบัติงานในฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลศรีธัญญา จำนวน 140 คน ได้จากการคำนวณตัวอย่างประชากรสูตรของทาโรยาเน จำนวน 103 คน แต่ได้รับแบบสอบถามกลับคืน 95 ฉบับ จึงถือได้ว่าตัวอย่างประชากรที่แท้จริงในการวิจัยครั้งนี้มีจำนวน ทั้งสิ้น 95 คน

Keywords: nurse, psychiatric nursing, พยาบาล, การปฏิบัติการพยาบาล, พยาบาลจิตเวช, พยาบาลวิชาชีพ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 106390402001

ISSN/ISBN: 0858-6101

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -