ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุปรีชา วงศ์พุทธา, ราณี ฉายินทุ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการพิพากษาของศาลกับผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ในผู้กระทำผิดทางอาญาที่มีปัญหาทางจิตเวช

แหล่งที่มา/Source: วารสารโรงพยาบาลนิติจิตเวช ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม 2537,33-49

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการตรวจวินิจฉัยสภาพจิตของผู้กระทำผิดผลการพิพากษาของศาล และเปรียบเทียบผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์กับผลการพิพากษาของศาลรวมทั้งการใช้มาตรการเพื่อความปลอดภัยในผู้กระทำผิดทางอาญาที่มีปัญหาทางจิตเวชโดยศึกษาจากผู้กระทำผิดทางอาญาที่ศาลส่งมาตรวจวินิจฉัยสภาพจิตในโรงพยาบาลนิติจิตเวชในช่วงระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2528 - 2532) จำนวน 170 ราย ด้วยวิธีการศึกษาจากแฟ้มประวัติของผู้กระทำผิดและสำเนาคำพิพากษาของศาล จากการศึกษาพบว่าผู้กระทำผิดเป็นชายมากกว่าหญิง ส่วนใหญ่เป็นโสด อยู่ในช่วงอายุ 21-30 ปี จบประถมศึกษา ประกอบอาชีพรับจ้าง กระทำผิดในคดีความผิดต่อชีวิตมากที่สุด โดยศาลส่วนกลางและส่วนภูมิภาคส่งมาตรวจ และทนายเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลให้ส่งมาตรวจ จากผลการตรวจ พบว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท (ร้อยละ 82.9) ขณะกระทำผิดป่วยเป็นโรคจิตไม่สามารถรู้ผิดชอบได้ (ร้อยละ 48.4) จากการพิพากษาของศาลพบว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ได้รับการพิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งนอกจากศาลจะเห็นด้วยกับความเห็นของแพทย์แล้ว ยังได้พิจารณาจากพฤติกรรมของผู้กระทำผิดร่วมด้วย เช่น ผู้กระทำผิดสามารถพูดโต้ตอบรู้เรื่องในขณะจับกุม หรือภายหลังการกระทำผิดยังรู้จักหลบหนี ซึ่งศาลเห็นว่าการกระทำผิดน่าจะสามารถรู้ผิดชอบได้บ้างในขณะกระทำผิด เป็นที่น่าสังเกตว่ามีผู้กระทำผิดที่ตรวจพบว่า มีปัญหาทางจิตเวชจำนวนไม่น้อย (ร้อยละ 38.2) ถูกตัดสินลงโทษจำคุกโดยศาลไม่ได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ในการพิพากษาโทษ พบว่าศาลได้พิจารณาจากพฤติกรรมของการกระทำผิดซึ่งเชื่อว่าผู้กระทำผิดนั้นเป็นผู้กระทำและสามารถรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองได้ จากการศึกษาเปรียบเทียบผลการวินิจฉัยของแพทย์กับผลการพิพากษาของศาลพบว่าผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์มีผลต่อการพิพากษาของศาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ค่า P น้อยกว่า .01) กล่าวคือการพิพากษาของศาลได้พิจารณาตามผลการตรวจวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญทั้งการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคแรกและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับคดีพบว่าประเภทของคดีมีผลต่อการพิพากษาของศาลเช่นกันโดยเฉพาะในคดีอุกฉกรรจ์ เช่น ผู้กระทำผิดคดีความผิดต่อชีวิตจะได้รับการพิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 เป็นส่วนใหญ่ สำหรับการใช้มาตรการเพื่อความปลอดภัยในผู้กระทำผิดนั้นพบว่ามีผู้กระทำผิดจำนวนน้อย (ร้อยละ 16.5) ที่ศาลใช้มาตรการเพื่อความปลอดภัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดต่อชีวิต

Keywords: การตรวจวินิจฉัยของแพทย์, ความผิดอาญา, ศาล, จิตเภท, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นิติจิตเวช, โรคจิต, โรคจิตเภท, forensic, forensic psychiatry, psychiatry, psychosis, psychotic, schizophrenia

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: โรงพยาบาลนิติจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 107370302004

ISSN/ISBN: 0858-4508

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -