ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กัลยา เกษมทรัพย์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาย้อนหลัง 10 ปี ผู้ป่วยโรคลมชักในผู้ใหญ่ ในสถาบันประสาทวิทยา

แหล่งที่มา/Source: วารสารกรมการแพทย์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 4 เมษายน 2541,172-182

รายละเอียด / Details:

ผู้ป่วยโรคลมชักที่เริ่มมีอาการชักตั้งแต่อายุ 25 ปีหรือมากกว่า มักพบสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งต่างจากผู้ป่วยโรคลมชักที่เริ่มมีอาการชักในวัยเด็กหรือวัยรุ่นที่มักหาสาเหตุไม่พบ ดังนั้นโรคลมชักในผู้ใหญ่จึงต้องสืบค้นอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของโรค รายงานนี้ได้ทำการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยโรคลมชักในผู้ใหญ่ที่มารับการรักษา ณ สถาบันประสาทวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2529 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2539 จำแนกตามชนิด และสาเหตุของการเกิดโรคในกลุ่มอายุต่าง ๆ โดยใช้ อายุที่ผู้ป่วยที่มีอาการชักครั้งแรกเป็นเกณฑ์ พบว่ามีผู้ป่วยจำนวน 1,100 คน เป็นชาย 590 ราย (ร้อยละ 53.64) หญิง 510 ราย (ร้อยละ 46.36) และพบอาการชักทั้งตัว 749 ราย (ร้อยละ 68.09) ชักเฉพาะที่ 177 ราย (ร้อยละ 16.09) ชักแบบ complex partial 174 ราย (ร้อยละ 15.82) สำหรับสาเหตุของโรคลมชักนั้น เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง 265 ราย (ร้อยละ24.09) ตัวอ่อนของพยาธิตืดหมูในสมอง 183 ราย(ร้อยละ16.64) เนื้องอกของสมอง 165 ราย (ร้อยละ 15) ภยันตรายต่อสมองแล้วเกิดอาการชักขึ้นภายหลัง 83 ราย (ร้อยละ 7.54) โรคสมองฝ่อ 69 ราย (ร้อยละ 6.27) โรคพิษสุราเรื้อรัง 36 ราย (ร้อยละ 3.27) ไม่ทราบสาเหตุ 281 ราย (ร้อยละ 25.55) ส่วนผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองพบ ผิดปกติ 758 ราย (ร้อยละ 68.91) ปกติ 342 ราย (ร้อยละ 31.09) และผลการตรวจคอมพิวเตอร์สมองพบ ผิดปกติ 785 ราย (ร้อยละ 71.36) ปกติ 315 ราย (ร้อยละ 28.64) จากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ป่วยโรคลมชักในผู้ใหญ่ เกือบร้อยละ 75 สามารถหาสาเหตุได้ ดังนั้นนอกจากการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแล้ว การตรวจพิเศษทางรังสีวินิจฉัยด้วยคอมพิวเตอร์สมอง จะช่วยแพทย์หาสาเหตุของโรคลมชักได้ดีขึ้น และในผู้ป่วยบางรายอาจรักษาให้หายขาดได้

Keywords: epilepsy, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรคลมชัก, ลมชัก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

Code: 111412304001

ISSN/ISBN: 0125-1643

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -