ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิญญา จำปามูล

ชื่อเรื่อง/Title: การตรวจสอบความตรงของการวินิจฉัยการพยาบาลในคลินิก:การเผชิญความเครียดที่ไม่มีประสิทธิภาพของบุคคล

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 2535, 36-38

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะอธิบายและตรวจสอบความตรงตามโครงสร้างของการวินิจฉัยการพยาบาลเรื่อง “การเผชิญความเครียดที่ไม่มีประสิทธิภาพของบุคคล” ใช้วิธีการศึกษาแบบอนุมานในการกำหนดการวินิจฉัยการพยาบาลและตรวจสอบความตรงของการวินิจฉัยการพยาบาลรูปแบบที่ใช้ในการตรวจสอบความตรงครั้ง นี้ คือ Clinical Diagnostic Validity Model (CDV Model) ของ Fehring (1986) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ ผู้ป่วยเรื้อรังที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีการเผชิญความเฉพาะของการเผชิญความเครียดที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่จำกัดเพศ ระดับการศึกษา เชื้อชาติ ศาสนา อาชีพ สถานภาพสมรส ฐานะทางเศรษฐกิจ จำนวนครั้งของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีการรับรู้และสติสัมปชัญญะดี สามารถสื่อความหมายเข้าใจกันได้ ไม่มีประวัติเป็นโรคจิต โรคประสาทมาก่อน กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมี 90 คน เข้ารับการรักษาใน 14 หอผู้ป่วยของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2533 ถึงเดือนกันยายน 2533 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลทั่วไป และแบบสังเกตลักษณะเฉพาะของการเผชิญความเครียดที่ไม่มีประสิทธิภาพของบุคคล ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมโดยใช้ลักษณะเฉพาะในการวินิจฉัยการพยาบาลรายการนี้ของสมาคมวินิจฉัยการพยาบาลแห่งอเมริกาเหนือเป็นหลัก แบ่งเป็น 3 หมวดคือ หมวดเกี่ยวกับความบกพร่องของพฤติกรรมการปรับตัวบุคคล มีลักษณะเฉพาะอยู่ 6 ข้อ หมวดเกี่ยวกับการขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหาเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ชีวิตของบุคคล มีลักษณะเฉพาะอยู่ 5 ข้อ และหมวดเกี่ยวกับความบกพร่องในการแสดงบทบาทของบุคคลในสังคม มีลักษณะเฉพาะอยู่ 4 ข้อ เครื่องมือนี้ได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 14 ท่าน และหาความเที่ยงของพยาบาลผู้สังเกตลักษณะเฉพาะ ด้วยการคำนวณหาค่าดัชนีของความสอดคล้อง ตามสูตรของ William A. Scott ได้ 0.876 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปโดยการแจกแจงความถี่และคำนวณร้อยละ วิเคราะห์ข้อมูลในการตรวจสอบความตรงของการวินิจฉัยการพยาบาล “การเผชิญความเครียดที่ไม่มีประสิทธิภาพของบุคคล” โดยการคำนวณหาค่าอัตราส่วนน้ำหนักของความเที่ยงจากการสังเกต (Weight Inter-Rater Reliability Ratio) ของแต่ละลักษณะเฉพาะตามแบบสังเกตลักษณะเฉพาะและคำนวณหาค่าคะแนนทั้งหมดของความตรงของการวินิจฉัยการพยาบาลในคลินิก (Total Clinical Diagnostic Validity Scores) ตามสูตรของ Fehring (1986) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ลักษณะเฉพาะ (defining characteristics) ที่ปรากฎจริงๆ ในคลินิก และมีความถี่มากอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้ (R>0.50) เมื่อกำหนดการวินิจฉัยการพยาบาลเรื่อง “การเผชิญความเครียดที่ไม่มีประสิทธิภาพของบุคคล” มีอยู่ทั้งหมด 7 ข้อ คือ 1.1 การกล่าวถึงหรือพูดว่าไม่สามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ 1.2 วิตกกังวล 1.3 มองตัวเองไร้ค่า ต่ำต้อย 1.4 บอกว่าไม่รู้จะหาความช่วยเหลือได้จากที่ไหน 1.5 ท้อแท้ใจ หมดหวัง 1.6 กลัวพิการ กลัวปวด หรือกลัวตาย 1.7 ใช้กลไกป้องกันทางจิตได้ไม่เหมาะสม 2. ลักษณะเฉพาะที่มีความสำคัญมากที่สุด (critical defining characteristics) ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดการวินิจฉัยการพยาบาลเรื่อง “การเผชิญความเครียดที่ไม่มีประสิทธิภาพของบุคคลมีอยู่ 3 ข้อ คือ 2.1 การกล่าวถึงหรือพูดว่าไม่สามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ 2.2 วิตกกังวล 2.3 มองตัวเองไร้ค่า ต่ำต้อย อนึ่ง เมื่อคำนวณค่าคะแนนทั้งหมดของความตรงของการวินิจฉัยการพยาบาลรายการนี้ทางคลินิก พบว่ามี ค่าคะแนน 0.457 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ยอมรับได้ คือ 0.60 (Fehring, 1986) จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบความตรงของการวินิจฉัยการพยาบาลรายการนี้ทางคลินิกต่อไป

Keywords: การวินิจฉัยทางการพยาบาล, พยาบาล, ปฏิบัติการพยาบาล, การเผชิญความเครียด, ความเครียด, เครียด, พยาบาลจิตเวช, จิตเวชศาสตร์, พยาบาล, nursing diagnosis, stress

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 117351101002

ISSN/ISBN: 0125-8842

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -