ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัมพร กุลเวชกิจ, ดวงแก้ว รอดอ่อง, จรินทร์จิต สุภัทรนิยะพงศ์, สุคนธ์ มหาทน

ชื่อเรื่อง/Title: สุขภาพจิตของญาติผู้ป่วยจิตเวช ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลศรีนครินทร์

แหล่งที่มา/Source: ศรีนครินทร์เวชสาร มกราคม - มีนาคม 2540 ปีที่ 12 ฉบับที่ 1

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ในภาวะปัจจุบัน แต่ละบุคคลต่างต้องเผชิญกับความเครียดเกือบตลอดเวลา เมื่อมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยย่อมส่งผลกระทบต่อญาติได้ โดยเฉพาะญาติของผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเป็นผู้ที่คอยดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยมาตลอดตั้งแต่แรกป่วยญาติของผู้ป่วยเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอ อาจเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตของญาติผู้ป่วยจิตเวชเปรียบเทียบภาวะสุขภาพจิตระหว่างญาติผู้ป่วยนอกและญาติผู้ป่วยใน รวมทั้งเปรียบเทียบภาวะสุขภาพจิตของญาติผู้ป่วยทั้งหมด ญาติผู้ป่วยนอกและญาติผู้ป่วยใน โดยแยกตาม เพศ อายุ การศึกษาสถานภาพสมรส อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์กับผู้ป่วยและระยะเวลา ที่เจ็บป่วยของผู้ป่วย รูปแบบการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา สถานที่ทำการศึกษา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มตัวอย่าง ญาติของผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วย 3จ. และแผนกผู้ป่วยนอก (จิตเวช) โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระหว่างเดือน กันยายน 2538 ถึง เดือน ธันวาคม 2538 ได้มาโดยการสุ่มแบบ เฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) รวมทั้งสิ้น 200 ราย เป็นญาติผู้ป่วยใน 100 ราย และญาติผู้ป่วยนอก 100 ราย การวัดผล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบวัดภาวะสุขภาพจิต ผู้วิจัยนำมาจากแบบสอบถามสุขภาพทั่วไป GHQ-28 (General Health Questionnaire) ของโกลเบิร์กและวิลเลี่ยม (Golberg & Williams) มีค่าความเชื่อมั่น = 0.8734 ใช้เวลาในการเก็บ รวบรวมข้อมูลทั้งสิ้น 4 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลด้วย การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ และค่าซี (Z-test) ผลการวิจัย (1) ภาวะสุขภาพจิตของญาติผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ดี คิดเป็นร้อยละ 62 (2) ภาวะสุขภาพจิตระหว่างญาติผู้ป่วยนอกและญาติผู้ป่วยใน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัย สำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (3) ญาติผู้ป่วยทั้งหมด ที่มีอายุ การศึกษา อาชีพ และความสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่แตกต่างกัน มีสุขภาพจิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (4) ญาติผู้ป่วยนอก ที่มีอายุ การศึกษาสถานภาพสมรส และอาชีพที่แตกต่างกัน มี สุขภาพจิตแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (5) ญาติผู้ป่วยใน ที่มีอายุและความสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่แตกต่างกัน มีสุขภาพจิตแตกต่าง กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สรุป จากผลการวิจัยที่พบว่าญาติผู้ป่วยส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตไม่ดี จึงควรหันมาให้ความสนับสนุนและส่งเสริมสุขภาพจิตให้กับญาติของผู้ป่วยจิตเวชให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งญาติผู้ป่วยที่มีอายุสูง การศึกษาต่ำ มีอาชีพเป็นเกษตรกร และญาติที่เป็นบิดามารดาของผู้ป่วย

Keywords: psychiatry, stress, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ญาติ, สุขภาพจิต, ญาติผู้ป่วยจิตเวช, ผู้ป่วยจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 123401201004

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -