ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นุกูล ตะบูนพงศ์, ช่อลดา พันธุเสนา, นิตยา ตากวิริยะนันท์

ชื่อเรื่อง/Title: ภูมิหลังและปัญหาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

แหล่งที่มา/Source: วารสารพยาบาลสงขลานครินทร์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2537, 1-13

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาภูมิหลังและปัญหาของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองขณะอยู่โรงพยาบาลและขณะจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน เพื่อช่วยให้ทราบลักษณะและปัญหาของผู้ป่วยกลุ่มนี้ ตามความเป็นจริง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยใน ซึ่งแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ที่รับการรักษาในโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลหาดใหญ่ โดยเลือกด้วยวิธีสะดวก (convenient sampling) จำนวน 58 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยขณะอยู่โรงพยาบาลและขณะจำหน่ายกลับบ้าน ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 67.2 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 80.4 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 86.2 มีรายได้เพียงพอทุกเดือน ร้อยละ 81.0 การศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 75.9 กลุ่มตัวอย่างมีอายุระหว่าง 25-86 ปี ร้อยละ 44.4 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งพบมากกว่าอายุในช่วงอื่น กลุ่มอาชีพที่พบมากที่สุด คือ เกษตรกรรม ร้อยละ 31.6 มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสงขลา ร้อยละ 42.8 เมื่อเจ็บป่วยบุคคลที่ทำหน้าที่ดูแลส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 89.7 เป็นบุคคลในครอบครัว ได้แก่ สามี หรือภรรยา บุตร พี่สาวหรือน้องสาว กลุ่มตัวอย่างมาโรงพยาบาลด้วยอาการสำคัญ 2 ประการคือ ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง และอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง สำหรับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง พบว่าส่วนใหญ่มาจากหลอดเลือดแตก ร้อยละ 53.7 ส่วนอุปนิสัยและปัจจัยส่งเสริมการเกิดโรคหลอดเลือดสมองกลุ่มนี้ได้แก่ หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล รับประทานอาหารรสเค็มเป็นประจำ สูบบุหรี่ ดื่มสุราและไม่ออกกำลังกาย ด้านปัญหาของกลุ่มตัวอย่างที่พบทั้งขณะอยู่โรงพยาบาลในช่วงสัปดาห์แรกและขณะจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ได้แก่ กินอาหารไม่ได้ ควบคุมการถ่ายปัสสาวะไม่ได้ ควบคุมการขับถ่ายอุจจาระไม่ได้ พักหลับได้น้อย พูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด สภาพอารมณ์และจิตใจไม่ปกติ สื่อภาษาไม่ได้ โดยพบว่าสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีปัญหาขณะจำหน่ายน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของผู้ป่วยที่มีปัญหาในสัปดาห์แรกขณะรับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามก่อนจำหน่ายผู้ป่วยยังมีปัญหาซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนติดตัวกลับไปบ้าน ได้แก่ การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และแผลกดทับ

Keywords: anxiety, mental health, psychology, personal background, stress, ความเครียด, เครียด, สุขภาพจิต, จิตวิทยา, ภูมิหลัง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: ภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 126371404005

ISSN/ISBN: 0125-8958

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -