ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นวลอนงค์ บุญจรูญศิลป์, วรณี ดำรงรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเครียดในการปฏิบัติงานของอาจารย์พยาบาล สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

แหล่งที่มา/Source: วารสารพยาบาล ปีที่ 46 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2540

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย เพื่อศึกษาระดับความเครียด และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความเครียดในการปฏิบัติงานของอาจารย์พยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างเป็นอาจารย์พยาบาลที่ปฏิบัติงานในสถาบันการศึกษาพยาบาลของรัฐบาล สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย 6 สถาบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 295 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถาม จำนวน 4 ชุด คือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามความเครียด แบบสอบถามความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน แบบสอบถามแรงสนับสนุนทางสังคม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC เพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปร โดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ และเลือกตัวทำนายที่ดีที่สุด โดยการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบมีขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า 1. กลุ่มตัวอย่างมีระดับความเครียดในระดับปกติ ร้อยละ 87.8 ในระดับสูง ร้อยละ 9.8 และในระดับต่ำ ร้อยละ 2.4 2. กลุ่มตัวอย่างมีระดับความพึงพอใจในการปฏิบัติงานในระดับปานกลางร้อยละ 76.6 ในระดับสูง ร้อยละ 12.9 และในระดับต่ำ ร้อยละ 10.5 3. กลุ่มตัวอย่างมีระดับแรงสนับสนุนทางสังคมในระดับปานกลาง ร้อยละ 68.8 ในระดับสูง ร้อยละ 17.3 และในระดับต่ำ ร้อยละ 13.9 4. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดของอาจารย์พยาบาล คือ อายุ และวุฒิการศึกษา โดยมีความสัมพันธ์ทางลบกับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 (r = -.1277) และ (r = -.1972) ตามลำดับ ชนิดของภาระครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .005 (r = .1076) นอกจากนั้นความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน และแรงสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางลบกับความเครียดอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 (r = -.1474) และ .01 (r = .1526) ตามลำดับ 5. ผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบมีขั้นตอนพบว่า ภาระของครอบครัวชนิดปานกลาง แรงสนับสนุนทางสังคม และอายุ เป็นกลุ่มตัวทำนายที่ดีที่สุด โดยสามารถอธิบายความผันแปรของความเครียดของอาจารย์พยาบาลได้ร้อยละ 7.79 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 จากผลการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหาร หรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการที่จะวางแผนหรือดำเนินการเพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการปฏิบัติงานและแรงสนับสนุนทางสังคม ตลอดจนลดความเครียดในการปฏิบัติงานของอาจารย์พยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ให้น้อยลงในเรื่องสภาพการปฏิบัติงาน ด้านการสอน ค่าตอบแทนและสวัสดิการ ความก้าวหน้าในการทำงาน การมีส่วนร่วมในการบริหารงานของหน่วยงานและอายุของอาจารย์ ในการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรศึกษาความตั้งใจของอาจารย์พยาบาลที่จะปฏิบัติงานในวิชาชีพต่อไป ศึกษาเปรียบเทียบความต้องการของอาจารย์พยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และศึกษาความเครียดและปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดในบุคลากรกลุ่มอื่นๆ ในทบวงมหาวิทยาลัย

Keywords: nurse, psychiatric nurse, stress, ความเครียด, เครียด, จิตวิทยา, สุขภาพจิต, พยาบาล, การปฏิบัติงานของอาจารย์พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 128404602004

ISSN/ISBN: 0125-0078

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -