ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นันทา เล็กสวัสดิ์, ทวีลักษณ์ วรรณฤทธิ์, อรรณพ คุณพันธ์, นงลักษณ์ บุญเยีย, สวัสดิ์ อัศวปิยานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรรกับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดในผู้ป่วย ภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ

แหล่งที่มา/Source: พยาบาลสาร ปีที่ 23 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2539, 53-63

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยคัดสรรได้แก่ เพศ อายุ ระดับสมรรถภาพของหัวใจภายหลังการผ่าตัดและสัมพันธภาพ ในครอบครัวกับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดในผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และหาปัจจัยร่วมพยากรณ์พฤติกรรมการเผชิญความเครียดในผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ระหว่างเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2537 จำนวน 50 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบสัมภาษณ์สัมพันธภาพในครอบครัวที่ดัดแปลงมาจากแบบสัมภาษณ์สัมพันธภาพในครอบครัวของ จงรักษ์ ศุภกิจเจริญ (2527) และแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการเผชิญความเครียดที่ผู้วิจัยดัดแปลงมาจากแบบวัดพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของจาโลวิค (Jalowiec, 1988) ผู้วิจัยนำเครื่องมือไปหาความเที่ยงตรงด้านเนื้อหา โดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่านตรวจสอบ และนำไปหาความเชื่อมั่นของเครื่องมือ โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสัมภาษณ์สัมพันธภาพในครอบครัวเท่ากับ 0.90 และได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการเผชิญความเครียดเท่ากับ 0.80 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาความสัมพันธ์โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า 1. ผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ มีพฤติกรรมการเผชิญความเครียดอยู่ในระดับปานกลาง และมีการใช้พฤติกรรมการเผชิญความเครียดด้านการเผชิญหน้ากับปัญหา และด้านการแก้ปัญหาทางอ้อมมากกว่าด้านการจัดการกับอารมณ์ 2. ปัจจัยคัดสรรไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดโดยรวม ในผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 3. เพศ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดด้านการเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 เพศและสัมพันธภาพในครอบครัวมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดด้านการจัดการกับอารมณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 ตามลำดับ และเพศมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดด้านการแก้ปัญหาทางอ้อมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ส่วน อายุ และระดับสมรรถภาพของหัวใจภายหลังการผ่าตัด พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดในผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ 4. ปัจจัยคัดสรรไม่สามารถพยากรณ์พฤติกรรมการเผชิญความเครียดโดยรวม ในผู้ป่วยภายหลังการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้ แต่พบว่า เพศ สามารถพยากรณ์พฤติกรรมการเผชิญความเครียดรายด้านได้ คือ ด้านการเผชิญหน้ากับปัญหาได้ร้อยละ 9.55 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณ เท่ากับ .3090 และด้านการจัดการกับอารมณ์ได้ร้อยละ 12.87 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณเท่ากับ .3587 ด้านการแก้ปัญหาทางอ้อมได้ร้อยละ 18.83 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณเท่ากับ .4339

Keywords: พฤติกรรมการเผชิญความเครียด, พฤติกรรม, การพยาบาลจิตเวช, ผ่าตัด, ปัจจัยคัดสรร, ความเครียด, เครียด, stress, behavior, operation, psychiatric nursing

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Code: 129392302003

ISSN/ISBN: 0125-5118

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -