ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริพร เกตุดาว, คณะ

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการผู้สูงอายุสู่อาสาเมตตาธรรม

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 3, 24-26 สิงหาคม 2537

รายละเอียด / Details:

ในสภาพสภาวะการณ์ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางวิชาการแพทย์ส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของประชาชนยืนยาวขึ้น ประจวบกับความสำเร็จในการวางแผนครอบครัวของประเทศ ทำให้อัตราเพิ่มของประชากรลดลง เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งมีสูงขึ้นทั้งปริมาณและสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2536 มีถึงร้อยละ 6.7 ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้รัฐจำเป็นต้องให้ความสนใจในปัญหาต่างๆ ที่ตามมา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการดูแลทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ จังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประชากรมากเป็นอันดับ 5 ของประเทศ การกระจายตัวของประชากรในเขตเทศบาลเมืองในปี พ.ศ.2536 มีทั้งสิ้น 146,871 คน จำนวนหลังคาเรือน 17,905 หลัง จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น ปี พ.ศ.2535 พบว่า ประชาชน 60 ปีขึ้นไปใน 20 ชุมชนมีจำนวน 820 คน ในจำนวนนี้ยังขาดการเข้าร่วมในชมรมผู้สูงอายุที่มีในท้องถิ่นมากกว่าร้อยละ 60 เพื่อเป็นการสนับสนุนให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุได้รวมกลุ่มดูแลด้านสุขภาพตนเอง ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สร้างเสริมความสามัคคีและร่วมกันประกอบกิจกรรมทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ กิจกรรมทางพุทธศาสนาและสาธารณประโยชน์ในสังคม โรงพยาบาลขอนแก่นร่วมกับสมาคมแม่บ้านสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นจึงได้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ “ชมรมดอกคูณ” ขึ้นในปี พ.ศ. 2536 และดำเนินการสนับสนุนการจัดโครงการผู้สูงอายุเพื่อการประชุมพบปะสังสรรค์ การให้ความรู้ด้านสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งจัดกิจกรรมให้สมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุได้สร้างสรรค์สังคมโดยสมัครเป็น “อาสาเมตตาธรรม” เพื่อร่วมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการให้บริการสาธารณสุขในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดความพึงพอใจในบริการของรัฐ บทบาทของอาสาเมตตาธรรมสามารถช่วยพัฒนาระบบการต้อนรับ อำนวยความสะดวกและการประชาสัมพันธ์บริการสถานที่ให้แก่ผู้เจ็บป่วยที่มาใช้บริการ ณ ตึกตรวจโรคผู้ป่วยนอกจากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของสมาชิกผู้สูงอายุ “ชมรมดอกคูณ” และ “อาสาเมตตาธรรม” พบว่าสมาชิกชมรมเริ่มการก่อตั้ง 94 คน สถานภาพคู่ร้อยละ 61.7 อาศัยอยู่กับบุตรหลาน ร้อยละ 52.1 อาชีพปัจจุบันส่วนใหญ่ทำงานบ้านร้อยละ 47.8 รายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1,500 บาทต่อเดือน ร้อยละ 34.1 ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนใหญ่สุขภาพแข็งแรงร้อยละ 84.0 จากการประเมินผลการตรวจสุขภาพร่างกายให้แก่กลุ่มสมาชิกพบว่าเป็นความดันโลหิตสูง 8 ราย โรคเบาหวาน 1 ราย มีน้ำตาลในปัสสาวะสูง 8 ราย มีความผิดปกติทางตา 38 ราย ได้ดำเนินการส่งรับการรักษาพยาบาลทั้งในโรงพยาบาลและการดูแลสุขภาพที่บ้านในชุมชน ผลการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพในปี พ.ศ. 2536 รวมจำนวน 4 ครั้ง จัดกิจกรรมธรรมสัญจรและศึกษาดูงาน 14 ครั้ง จัดอบรมให้ความรู้ บทบาทการประชาสัมพันธ์และอาสาเมตตาธรรม 1 ครั้ง ผลการประชุมอาสาเมตตาธรรมเพื่อช่วยเหลือด้านการประชาสัมพันธ์ ต้อนรับอำนวยความสะดวก ได้สรุปบทบาทของสมาชิกที่ร่วมดำเนินงานได้แก่การประชาสัมพันธ์อาคาร สถานที่ ขั้นตอนการรับบริการ ณ ตึกตรวจโรคผู้ป่วยนอก แนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อมาอยู่โรงพยาบาลเวลาเยี่ยมผู้ป่วย การให้ความเป็นกันเองกับผู้ใช้บริการให้คำแนะนำสุขภาพอนามัยและร่วมรณรงค์ด้านสาธารณสุข อาสาเมตตาธรรมขึ้นปฏิบัติงาน เวลา 8.00-12.00 น. ในวันราชการ ณ ตึกตรวจโรคผู้ป่วยนอกวันละ 2 คน การจัดโครงการผู้สูงอายุของโรงพยาบาลขอนแก่นนำไปสู่โครงการอาสาเมตตาธรรมจึงนับได้ว่าเป็นก้าวหนึ่งที่ได้ให้การดูแลสุขภาพอนามัยผู้สูงอายุตามแผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ 7 และนโยบายการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพให้เกิดความพึงพอใจในการใช้บริการ โดยความร่วมมือช่วยเหลือของชุมชนที่มีต่อองค์กรสาธารณสุขของรัฐ

Keywords: โครงการผู้สูงอายุสู่อาสาเมตตาธรรม, สุขภาพจิต, จิตวิทยา, บริการ, ผู้ป่วยนอก, ผู้สูงอายุ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: โรงพยาบาลขอนแก่น สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200370003013

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -