ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธาราทิพย์ ธรรมนวพฤทธิ์, ประคอง นันท์ดี, มานะ ลอศิริกุล, วิไลวรรณ พันธไชย, จินตนา ลี้ละไกรวรรณ, มณฑิรา เขียวยิ่ง, ชูศรี ดูชัยสิทธิ์, เอื้อมพร ทองกระจาย

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 3, 24-26 สิงหาคม 2537

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์คำปรึกษาโรคเอดส์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผลการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และความแตกต่างระหว่างผลการให้คำปรึกษาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกับอายุ เพศ สถานภาพสมรส จำนวนครั้งที่ได้รับการอบรมการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ ประสบการณ์ของผู้ให้คำปรึกษาโรคเอดส์และลักษณะการให้คำปรึกษาโรคเอดส์โดยศึกษากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ได้รับการอบรมการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ในระหว่าง พ.ศ.2534-2535 จำนวน 58 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ผู้ตอบตอบด้วยตนเอง ในระหว่างวันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2537 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ คำนวณร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ค่าt และค่า F ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ลักษณะทั่วไป เจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 53.45 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 79.31 มีการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาต่างๆ เช่น สาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สุขศึกษาและนิติศาสตร์ ร้อยละ 58.62 มีสถานภาพสมรสคู่และอยู่ด้วยกัน ร้อยละ 56.89 ได้ผ่านการอบรมการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ 2 ครั้ง ร้อยละ 56.89และได้ผ่านการอบรมให้คำปรึกษาโรคเอดส์ครั้งสุดท้ายมานาน 7-12 เดือน ร้อยละ 89.93 และใช้ห้องทำงานหรือหอผู้ป่วยเป็นสถานที่ให้คำปรึกษาร้อยละ 44.83 การศึกษานี้ยังพบว่าชื่อคลินิกมีผลต่อการให้คำปรึกษาเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.27 โดยมีเหตุผลเรียงตามอันดับ ดังนี้ อันดับ 1 ผู้ป่วยกลัวคนอื่นรู้ อันดับ 2 สามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยทั่วไปได้ และอันดับ 3 ลดความรู้สึกกลัวได้ คุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานให้คำปรึกษาโรคเอดส์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เรียงตามลำดับดังนี้ อันดับ 1 รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น อันดับ 2 เก็บรักษาความลับของคนอื่นได้ และอันดับ 3 ใจดียิ้มแย้มแจ่มใส ส่วนคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมกับงานให้คำปรึกษาโรคเอดส์ เรียงตามลำดับดังนี้ อันดับ 1 วิตกกังวลใจ อันดับ 2 มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย 2. ประสบการณ์ให้คำปรึกษาโรคเอดส์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนน้อยที่ไม่มีผู้มารับคำปรึกษา ร้อยละ 15.52 ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.76 มีผู้มารับคำปรึกษา และร้อยละ 64.58 ที่มีจำนวนผู้มารับคำปรึกษามากกว่า 6 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาโรคเอดส์นาน 19.24 เดือน ร้อยละ 24.14 ผู้มารับบริการส่วนใหญ่จะมาขอรับคำปรึกษาโรคเอดส์ด้วยตนเองร้อยละ 65.31 โดยเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงร้อยละ 59.18 และรองลงมาเป็นผู้มีความกังวลใจจากการรับสื่อ ร้อยละ 42.86 รองลงมาเป็นปัญหาสุขภาพร่วมกับปัญหาอื่นๆ ร้อยละ 32.65 ผู้มารับคำปรึกษาส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ มาก่อน ความช่วยเหลือที่ผู้ให้คำปรึกษาให้แก่ผู้มารับคำปรึกษาส่วนใหญ่เป็นการให้ความรู้และแนวทางการแก้ไขปัญหา ร้อยละ 53.07 รองลงมาคือให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ร้อยละ 28.57 การติดตามผลการให้คำปรึกษาส่วนใหญ่นัดให้กลับมาพบอีก ร้อยละ 65.31 และส่วนน้อยร้อยละ 26.53 ไม่เคยติดตามผลการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ในวันผู้ที่นัดให้กลับมาพบอีก ส่วนใหญ่กลับมาบางครั้ง ร้อยละ 62.50 (n=32) รองลงมากลับมาทุกครั้ง ร้อยละ 31.258 โดยภาพรวมแล้วเจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่รู้สึกพึงพอใจกับการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ ร้อยละ 84.75 เหตุผลที่พึงพอใจเรียงตามลำดับดังนี้ อันดับ 1 ผู้รับบริการสามารถตัดสินปัญหาด้วยตนเอง อันดับ 2 ได้พัฒนาตัวเองและงานบริการสุขภาพ อันดับ 3 ท้าทายความสามารถส่วนเหตุผลที่ไม่พึงพอใจเรียงตามอันดับดังนี้ อันดับ 1 ไม่มีห้องให้คำปรึกษาเป็นสัดส่วน อันดับ 2 การให้คำปรึกษาโรคเอดส์ไม่ใช่งานหลัก และอันดับ 3 ขาดแรงจูงใจในค่าตอบแทน 3. ผลการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ ผลการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 79.60 ไม่พบความแตกต่างระหว่างผลการให้คำปรึกษาโรคเอดส์กับอายุ เพศ สถานภาพสมรส จำนวนครั้งที่เข้ารับการอบรมการให้คำปรึกษาโรคเอดส์ ประสบการณ์ให้คำปรึกษาโรคเอดส์ และลักษณะงานให้คำปรึกษาโรคเอดส์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.05)

Keywords: AIDS, counseling, counselling, HIV, สุขภาพจิต, จิตวิทยา, การให้คำปรึกษาโรคเอดส์, ปรึกษา, โรคเอดส์, เอดส์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200370003014

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -