ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมพร กุศเลิศจริยา, ละเอียด วรรณสารเมธา, สุนันทา ตวงศิริทรัพย์, ศรีสวาท ชัยสิทธิ์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเปรียบเทียบการใช้ดนตรีพื้นเมืองกับดนตรีคลาสสิคเพื่อลดความเจ็บปวดในมารดาระยะเจ็บครรภ์คลอด

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 3, 24-26 สิงหาคม 2537

รายละเอียด / Details:

การคลอดบุตรเป็นสภาวะก่อให้เกิดความเจ็บปวดต่อมารดา ดนตรีเป็นวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้เบี่ยงเบนความสนใจเพื่อลดความเจ็บปวด ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้ดนตรีต่อการลดความเจ็บปวดของมารดาระยะเจ็บครรภ์คลอด และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความเจ็บปวดของมารดาระยะเจ็บครรภ์คลอด ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการจัดดนตรีพื้นเมืองกับกลุ่มที่ได้รับการจัดดนตรีคลาสสิค การศึกษาวิจัยนี้เป็นวิจัยกึ่งทดลอง (quasi-experimental research) โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาที่มาคลอดบุตรในโรงพยาบาลแม่และเด็ก ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 5 ที่มีอายุ 20-30 ปี ไม่มีประสบการณ์การคลอดมาก่อน ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ และไม่เป็นบุคคลที่หูหนวกและตาบอด กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 30 คน คือกลุ่มที่ได้รับการจัดดนตรีพื้นเมือง กลุ่มที่ได้รับการจัดดนตรีคลาสสิค และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการจัดดนตรี ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นมาตรวัดความเจ็บปวดด้วยภาพการแสดงออกทางใบหน้ากำหนดคะแนนของความเจ็บปวดออกเป็น 6 ระดับ ซึ่งหาความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างโดยใช้สูตรหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Pearson’s Correlation) ใช้วัดระดับความเจ็บปวด 3 ครั้ง และสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test และ ANOVA ผลของการศึกษาพบว่า 1. ทั้ง 3 กลุ่มมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความเจ็บปวดของมารดามากขึ้นเมื่อใกล้คลอด 2. กลุ่มที่ได้รับการจัดดนตรีมีค่าคะแนนเฉลี่ยความเจ็บปวดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการจัดดนตรีและกลุ่มที่ได้รับการจัดดนตรีพื้นเมืองมีคะแนนเฉลี่ย ของระดับความเจ็บปวดต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับการจัดดนตรีคลาสสิค 3. เมื่อศึกษาความแตกต่างระดับความเจ็บปวดระหว่างกลุ่มทั้ง 3 กลุ่ม ระหว่างครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 พบว่าไม่มีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญที่ 0.05 (ค่า F prob = 0.0835) สรุปผลของการวิจัยครั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของคะแนนความเจ็บปวดไม่มีความแตกต่างกันนั้น เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งให้ความเห็นว่าไม่ชอบดนตรีที่จัดให้ และกลุ่มตัวอย่างยังไม่มีการกระจายกลุ่มตัวอย่างเท่าที่ควร เช่น ให้กลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกัน ซึ่งเป็นตัวแทนของประชากรทุกกลุ่มได้ อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ได้รับการจัดดนตรีพื้นเมืองมีคะแนนเฉลี่ยระดับความเจ็บปวดต่ำกว่า เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวมีความคุ้นเคยกับดนตรีพื้นเมืองมากกว่า จึงทำให้เบนความสนใจหรือเบี่ยงเบนความเจ็บปวดไปที่ดนตรี นอกจากความเจ็บปวดจากการบีบหดรัดตัวของมดลูกแล้ว มารดาบางรายอาจมีปัญหาด้านจิตใจและสภาวะอารมณ์อื่นๆ เช่น ความกลัว ความวิตกกังวล ความหวาดหวั่นต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสภาวะเหล่านี้มีความสัมพันธ์ และเกิดคู่กับความเจ็บปวดเฉียบพลันเสมอ ดังนั้นผู้วิจัยจึงนำดนตรีไปใช้เป็นกิจกรรมในการดูแลมารดาระยะคลอด เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายหรือช่วยในการเบี่ยงเบน หรือดึงดูดความสนใจจากความเจ็บปวดดังกล่าว

Keywords: music, music therapy, stress, pain, ความเจ็บปวด จิตวิทยา, ดนตรี, ดนตรีบำบัด, ดนตรีคลาสสิค, ดนตรีพื้นเมือง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: โรงพยาบาลแม่และเด็กเมืองพล ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 5 นครราชสีมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200370003041

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -