ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: โสภณ เมฆธน, มณีรัตน์ ธีระวีวัฒน์, วรรณะ วีระผาสุก

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้แอมเฟตามีนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดกาญจนบุรี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 5, 4-6 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

ปัญหาการเสพแอมเฟตามีนในเด็กวัยเรียน นักศึกษา เป็นปัญหาที่น่าวิตกและมีผลกระทบต่อเยาวชนของชาติเป็นอย่างยิ่ง ผู้วิจัยจึงมีความสนใจจะศึกษาสถานการณ์ทางระบาดวิทยา และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการเสพแอมเฟตามีนของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป วิธีการศึกษา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจศึกษาแบบตัดขวาง (Cross-sectional design) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามพร้อมทั้งการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ เพื่อพิสูจน์ผู้เสพยาบ้า กลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาคือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของทุกโรงเรียน นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษาและวิทยาลัยการอาชีพในจังหวัดกาญจนบุรี ทำการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย จำนวนร้อยละ 50 ของกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้หมายเลขห้องเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวอย่างกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาคือ กลุ่มที่มีการเสพแอมเฟตามีน โดยใช้ผลบวกจากการตรวจปัสสาวะเป็นเครื่องยืนยัน กลุ่มเปรียบเทียบคัดเลือกจากนักเรียนหรือนักศึกษาที่อยู่ห้องเดียวกันโดยสุ่มตัวอย่างแบบง่าย ให้มีอัตราส่วนจำนวนกลุ่มตัวอย่างต่อกลุ่มเปรียบเทียบเท่ากับ 1 ต่อ 2 ตัวแปรที่ศึกษาคือ ความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับแอมเฟตามีน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนค่าใช้จ่ายของนักเรียน การดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครองการเข้าร่วมโปรแกรมป้องกันยาเสพติดในโรงเรียน กลุ่มเพื่อนและการสูบบุหรี่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ X2 - test ผลการศึกษาผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่ทำการศึกษา จำนวน 1,092 คน เป็นเพศชาย 594 คน และเพศหญิง 498 คน พบว่ามีการเสพแอมเฟตามีน 78 คน (ร้อยละ 7.1) เป็นเพศชายทั้งหมด การศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อพฤติกรรมการเสพแอมเฟตามีน พบว่าปัจจัยด้านทัศนคติต่อแอมเฟตามีน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครอง การเข้าร่วมโปรแกรมป้องกันยาเสพติดในโรงเรียนและการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเสพแอมเฟตามีนของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนปัจจัยด้านความรู้เกี่ยวกับแอมเฟตามีน ค่าใช้จ่ายของนักเรียนและการมีเพื่อนเสพแอมเฟตามีนไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการเสพแอมเฟตามีนในทางสถิติ วิจารณ์และสรุป ผลการวิจัยทำให้ทราบว่ากลุ่มนักเรียนที่เสี่ยงต่อการเสพแอมเฟตามีน คือ กลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ มีการสูบบุหรี่ คณะผู้วิจัยเสนอแนวทางที่น่าจะนำไปใช้ในการป้องกันการเสพแอมเฟตามีนในกลุ่มนักเรียน คือ การเพิ่มการดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครอง ความพยายามให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงได้เข้าร่วมโปรแกรมป้องกันยาเสพติดในโรงเรียน เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนต่อแอมเฟตามีนไปในทางที่ถูกต้อง

Keywords: ยาเสพติด, ยาบ้า, นักเรียน, ระบาดวิทยา, ผู้เสพยาบ้า, ยาเสพติด, สารเสพติด, drug addict, abuse, amphetamine

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กระทรวงสาธารณสุข

Code: 200390005033

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข

Download: -