ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: การุณย์ หงษ์กา และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การเฝ้าระวังและการให้การดูแลผู้ทำร้ายตนเองอย่างบูรณาการในโรงพยาบาลขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 309

รายละเอียด / Details:

การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสังคมที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มูลเหตุของการฆ่าตัวตายมิได้มาจากสาเหตุหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หากเป็นผลรวมของหลายสาเหตุ เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด ความทุกข์ ความคับข้องใจนานัปการ ที่ซับซ้อน กดดันผู้นั้น ทั้งในระดับที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แนวทางการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย จึงต้องกระทำไปอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลขอนแก่นโดยกลุ่มงานจิตเวชได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการทำร้ายตนเองของผู้มารับบริการ จึงได้จัดระบบในการเฝ้าระวัง และให้การดูแลผู้ทำร้ายตนเองอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนางานบริการให้มีคุณภาพตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ทำร้ายตนเองและครอบครัวเข้าใจปัญหา สามารถเผชิญปัญหาและพิจารณาทางเลือกในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ลดอัตราการทำร้ายตนเองซ้ำตามตัวชี้วัด คือ อัตราการทำร้ายตนเองซ้ำภายใน 90 วัน เป็น 0 สำหรับรูปแบบการให้บริการนั้น ผู้ทำร้ายตนเองทุกราย หลังจากได้รับการรักษาพยาบาลจนพ้นภาวะวิกฤตแล้ว ทางหอผู้ป่วยจะส่งปรึกษากับกลุ่มงานจิตเวช เพื่อให้ได้รับการประเมินภาวะซึมเศร้าความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายและโรคจิต ให้การปรึกษาทั้งแบบรายบุคคลและแบบครอบครัวก่อนจำหน่ายและนัดมาติดตามผลการรักษาสองสัปดาห์ สำหรับผู้ที่มีคะแนนความซึมเศร้ามาก ยังมีความคิดทำร้ายตนเอง และผู้ที่มีอาการทางจิตได้ส่งรักษาต่อที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จากข้อมูลการเฝ้าระวังพบว่า มีจำนวนผู้ทำร้ายตนเองตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 102,120 และ 47 คน ตามลำดับ วิธีการทำร้ายตนเองส่วนใหญ่ใช้วิธีกินยาเกินขนาด ดื่มกินสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชและวัชพืช ตามลำดับ ส่วนปัญหาหรือเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้ทำร้ายตนเองคือน้อยใจคนใกล้ชิด เช่น คู่รัก คู่ครอง ปัญหาสัมพันธภาพกับคนใกล้ชิด ต้องการประชด สำหรับปัจจัยด้านอายุพบว่าอยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และพบว่าเพศชายจะใช้วิธีการที่รุนแรงในจำนวนผู้ทำร้ายตนเองที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลขอนแก่น ตั้งแต่งบประมาณ 2545-2547 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2,2 และ 4 คน ตามลำดับ ทั้งหมดล้วนเป็นเพศชาย วิธีที่ใช้คือกินยาฆ่าแมลง ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณที่กิน และระยะเวลาที่ได้รับการช่วยเหลือรักษา ผลจากการเฝ้าระวังและให้การดูแลอย่างต่อเนื่องพบว่า มีผู้ทำร้ายตนเองซ้ำเพียง 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.8 นับเป็นความภาคภูมิใจที่การเฝ้าระวังผู้ทำร้ายตนเอง หากได้รับบริการครอบคลุมทั้งการปรึกษารายบุคคลและการปรึกษาแบบครอบครัวจะช่วยให้เข้าใจปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาได้ ลดการทำร้ายตนเองซ้ำกลับมา นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่นำมาใช้ในการดูแลทางสุขภาพจิตผู้ทำร้ายตนเองและประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี เป้าหมายต่อไปคือการให้บริการเพื่อลดอัตราการทำร้ายตนเองซ้ำเป็น 0

Keywords: การฆ่าตัวตาย, พยายามฆ่าตัวตาย, ฆ่าตัวตาย, ทำร้ายตนเอง, เฝ้าระวัง, โรงพยาบาลขอนแก่น, บริการจิตเวช, บริการสุขภาพจิต, การดูแลผู้ทำร้ายตนเอง, กลุ่มเสี่ยง, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลขอนแก่น

Code: 20040000114

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -