ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพ.บุญชัย นวมงคลวัฒนา

ชื่อเรื่อง/Title: ห้องปฏิบัติการชุมชนสุขภาพจิตดี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 319-320.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล แผนยุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาพจิตตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) มุ่งหวังให้ประชาชนมีความตระหนักและสามารถดูแลสุขภาพจิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของชุมชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี ต้นทุนทางสังคมของชุมชนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น ตลอดจนการดูแลรักษา ป้องกันปัญหา และส่งเสริมสุขภาพสำหรับคนในชุมชนให้มีความเสมอภาคกับคนทั่วไปได้ ดังนั้นโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์จึงได้นำต้นทุนทางสังคมที่เป็นทรัพยากรบุคคล ความสัมพันธ์ และความเข้มแข็งของชุมชนมาเป็นต้นทุนในการสร้างชุมชนที่มีความพร้อม เพื่อให้ได้แนวทางในการดูแล เฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพต่อคนในชุมชนมากที่สุด วัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดชุมชนสุขภาพจิตดี ประชาชนสามารถดูแลตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ ผลการดำเนินงาน การดำเนินงานเป็นแกนนำในชุมชนบ้านท่าลาด จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้เข้าร่วมจำนวน 50 คน มีการระดมสมองกำหนดโครงการเพื่อชุมชนสุขภาพจิตดี 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการครอบครัวมีสุข 2. โครงการมั่งมี ศรีสุข 3. โครงการสุขภาพดีไม่มีโรคภัย 4. โครงการชุมชนสามัคคี หลังจากดำเนินโครงการทำให้ชุมชนบ้านท่าลาดมีผลงานที่ชัดเจนในการกำหนดรูปแบบการออกกำลังกาย การจัดตั้งกลุ่มประกอบอาชีพ ทำให้ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ย 10,000 บาทต่อเดือน การกำหนดประเมินสุขภาวะของครอบครัว การสื่อสารในครอบครัว การดำเนินการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และการพัฒนาความสามารถของชุมชนในการคัดกรองความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กอายุ 3-5 ปี ส่วนการดำเนินงานเพื่อสุขภาพจิตที่บ้านโคกป่าจิก จังหวัดยโสธร มีผู้เข้าร่วม จำนวน 93 คน โดยมีการระดมสมองกำหนดโครงการเพื่อชุมชนสุขภาพจิตดี จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการน้ำใจใสสะอาด 2. โครงการชุมชนร่วมแรงร่วมใจพัฒนา 3. โครงการเศรษฐกิจดีอยู่ดีกินดี 4. โครงการเพื่อสุขภาพ 5. โครงการสังคมพัฒนาเพื่อผู้สูงอายุ หลังจากดำเนินโครงการทำให้ชุมชนบ้านโคกป่าจิกมีกลุ่มอาชีพเพิ่มรายได้ มีการแข่งขันกีฬา การออกกำลังกายโดยไม้พลอง การกำหนดการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี การจัดตั้งกลุ่มให้การปรึกษากับผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและวัยรุ่นในชุมชน การกำหนดกิจกรรมเพื่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุและการตรวจมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเสี่ยง การมีน้ำดื่มที่ถูกสุขอนามัย การปรับปรุงแหล่งสาธารณูปโภค และการให้ความรู้เรื่องการเกษตรและการปลูกป่า

Keywords: สุขภาพจิต, ชุมชน, สุขภาพจิตชุมชน, ห้องปฏิบัติการ, ปัญหาสุขภาพจิต, mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20040000118

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -