ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพ.สมัย ศิริถาวรและคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะสุขภาพจิตคนพิการทางการเคลื่อนไหว

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 331.

รายละเอียด / Details:

การสำรวจภาวะสุขภาพจิตคนพิการทางการเคลื่อนไหว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตของคนพิการทางการเคลื่อนไหว และปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นกลุ่มตัวอย่างที่เฉพาะเจาะจงเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ที่ไม่สามารถจะไปไหนมาไหนได้สะดวกและเป็นกลุ่มที่แจ้งความประสงค์ขอรับอุปกรณ์ช่วยเหลือความพิการ ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Wheel of hope ประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 206 คน เพศชาย 138 คน เพศหญิง 68 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามประกอบด้วย ข้อมูล 2 ส่วน ข้อมูลส่วนบุคคล เพศ สถานภาพสมรส วุฒิการศึกษา อาชีพหลัก รายได้ สภาพทางการเงิน ที่อยู่อาศัย สภาพความพิการ และส่วนที่ 2 ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตของคนไทยชุด 66 ข้อ (MHI-66) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดยโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ที่ได้ศึกษาความตรงตามเนื้อหา ความตรงตามโครงสร้าง ความตรงร่วมสมัย ความเชื่อมั่นของเครื่องมือ การหาค่าปกติ ศึกษาค่าความพร้อม และได้นำไปใช้ศึกษาภาวะสุขภาพจิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาแล้ว วิเคราะห์ข้อมูลด้วยตารางแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ และอัตราส่วนการประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ผลการสำรวจ พบว่าภาวะสุขภาพจิตของคนพิการ กลุ่มตัวอย่างมีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุดร้อยละ 74.8 มีสุขภาพจิตปกติร้อยละ 18.9 และมีสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไป เพียงร้อยละ 6.3 กลุ่มมีปัญหาสุขภาพจิตส่วนมากมีอายุอยู่ในช่วง 15-45 ปี โดยช่วงอายุ 30-34 ปี มีมากที่สุด คือร้อยละ 13.0 ทุกสถานภาพสมรสส่วนมากมีคะแนนระดับมีปัญหาสุขภาพจิต โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีสถานภาพสมรสโสดและสมรสแล้วมีเท่าๆ กัน คิดเป็นร้อยละ 29.6 เช่นเดียวกับการศึกษา พบว่า ทุกระดับการศึกษามีคะแนนภาวะสุขภาพจิตในระดับมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และผู้ที่จบประถมศึกษา แต่ผู้ที่เรียนจนจบประถมศึกษาจะมีคะแนนอยู่ในช่วงสุขภาพจิตปกติมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ด้านอาชีพ พบว่า ทุกอาชีพมีคะแนนภาวะสุขภาพจิตระดับมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีงานทำ มีร้อยละ 23.3 รองลงมา คือ กลุ่มที่ประกอบอาชีพอื่นๆ และเกษตรกร ด้านรายได้ของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มที่ไม่มีรายได้มีคะแนนอยู่ในช่วงมีปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 42.2 สุขภาพจิตปกติร้อยละ 8.7 ความเพียงพอของรายได้พบว่า ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตส่วนมากไม่พอใช้ต้องพึ่งพิงผู้อื่นร้อยละ 47.3 รองลงมาคือผู้ที่มีรายได้ไม่พอใช้ และมีหนี้สินร้อยละ 13.7 ด้านที่อยู่อาศัยกลุ่มตัวอย่างที่อยู่กับครอบครัวมีปัญหาสุขภาพจิตมากที่สุดร้อยละ 33.0 รองลงมาคือ ผู้ที่อยู่บ้านของตนเอง ร้อยละ 25.2 กลุ่มผู้ที่พิการขาทั้งสองข้าง มีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 53.3 มีสุขภาพจิตปกติร้อยละ 17.5 และมีสุขภาพจิตดีกว่าคนทั่วไปร้อยละ 5.3 ส่วนในกลุ่มที่มีความพิการซ้ำซ้อน คือ นอกจากขาพิการแล้วยังมีความพิการอย่างอื่นร่วมด้วยนั้น ส่วนมากอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้พิการทุกข์ใจมากที่สุดเป็นอันดับแรก คือ ไปไหนมาไหนไม่สะดวก รองลงมาคือความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระผู้อื่น แม้เมื่อนำสาเหตุที่ทำให้ทุกข์ใจกับสามลำดับรวมกันแล้ว จะพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความทุกข์จากไม่มีเงินทองยังชีพมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบภาวะสุขภาพจิตแล้ว ผู้ที่ไปไหนมาไหนไม่สะดวกเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิต ร้อยละ 26.7 มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีเงินพอยังชีพ ซึ่งมีร้อยละ 23.8 ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความสุขสามอันดับ คือ การเงินเพียงพอใช้จ่าย ร้อยละ 47.0 มีอุปกรณ์ช่วยความพิการ และมีงานทำตามลำดับ ซึ่งส่วนมากอยู่ในกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิต การทดสอบค่าสถิติพบว่า เพศ อาชีพ รายได้ ลักษณะความพิการที่แตกต่างกัน มีภาวะสุขภาพจิตไม่แตกต่างกัน ส่วนสถานภาพสมรส การศึกษา ความเพียงพอของรายได้และที่พักอาศัยแตกต่าง จะมีภาวะสุขภาพจิตแตกต่างกัน

Keywords: สุขภาพจิต, คนพิการทางการเคลื่อนไหว, ภาวะสุขภาพจิต, พิการ, ผู้พิการ, mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000121

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -