ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มีนา นุ้ยแนบ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การสร้างเครือข่ายจิตสังคมบำบัดในเรือนจำจังหวัดสงขลา

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 339-340.

รายละเอียด / Details:

ยาเสพติด เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และรัฐบาลมีนโยบายให้ทุกฝ่ายร่วมระดมพลังเพื่อเอาชนะยาเสพติด โดยเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาสำคัญ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หลักในด้านการส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จากสถิติคดีและจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดทั่วประเทศระหว่างปี พ.ศ. 2543-2546 พบว่ามีจำนวน 87,814-238,153 ราย โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา จากสถิติของเรือนจำกลางและเรือนจำจังหวัดสงขลา พบว่ามีผู้ต้องขังคดียาเสพติดคิดเป็นร้อยละ 41.9-42.4 ของจำนวนผู้ตัองขังทั้งหมด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดบริการให้สอดคล้องกับนโยบาย จึงจัดอบรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดสารเสพติดให้กับบุคลากรของเรือนจำต่างๆ ในจังหวัดสงขลา ในการเตรียมความพร้อม และเสริมสร้างศักยภาพที่จะพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงานให้กับบุคลากร อีกทั้งสามารถกำหนดรูปแบบการดำเนินงานจัดบริการให้กับผู้รับบริการในหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาเครือข่ายบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติดแบบเชิงรุกให้เหมาะสมกับปัญหาในพื้นที่ วิธีการ จัดโครงการอบรมการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติดด้วยวิธีจิตสังคมบำบัดแก่บุคลากรในเรือนจำและทัณฑสถานของจังหวัดสงขลา 4 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัด เรือนจำกลาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ และทัณฑสถานหญิงสวนตูล ในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม และกรกฎาคม โดยจัดอบรม 3 รุ่นๆ ละ 4 วัน โดยมีภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติจริง ภายหลังการสิ้นสุดการอบรมทุกรุ่น มีการวางแผนการจัดบริการบำบัดรักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติดด้วยวิธีจิตสังคมในแต่ละเรือนจำ เพื่อเป็นแนวทางในการติดตามประเมินผล หลังจบโครงการอบรมพบว่า ความพร้อมในการจัดบริการมี 2 แห่ง ที่พร้อมเป็นเรือนจำนำร่องในการบำบัดด้วยวิธีจิตสังคมบำบัดแบบผู้เสพ 12 ครั้ง / 6 สัปดาห์ คือ เรือนจำจังหวัดและเรือนจำกลางสงขลา โดยมีบุคลากรของทั้ง 2 เรือนจำ ร่วมในการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม และมีบุคลากรของโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์เป็นผู้ให้คำแนะนำ สรุปผล การประเมินผลคุณภาพบริการโดยวิธีตอบแบบสอบถามปลายเปิดที่จัดทำขึ้นเมื่อสิ้นสุดโครงการความคิดเห็นผู้ต้องขังที่เข้ารับการบำบัดที่มีต่อโครงการนี้พบว่า ได้ทราบถึงการป้องกันตัวและวิธีหลบเลี่ยงต่อยาเสพติดที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้าง โดยต้องทำความเข้าใจ ต่อสิ่งกระตุ้นอย่างชัดเจน ให้รู้เท่าทันความคิดของตัวเองว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้เร็วที่สุด รู้จักจัดระเบียบให้กับตัวเองว่าควรทำอะไรก่อนหลัง และรู้จักสรุปและประเมินผลตัวเองในแต่ละวัน ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะดำรงชีวิตในวันข้างหน้าสูงขึ้น นอกจากนี้สามารถนำความรู้เพิ่มเติมที่ได้ไปใช้กับคนในครอบครัว หรือบุคคลอื่นๆ เช่น เพื่อน เมื่อมีปัญหาในการที่จะเลิกเสพยาก็สามารถให้คำแนะนำได้ โดยเฉพาะวิธีการที่จะปฏิเสธเพื่อนโดยที่เราและเพื่อนก็ไม่ต้องมาผิดใจกัน สรุปว่าโครงการจิตสังคมบำบัดในเรือนจำ เปรียบเสมือนการสร้างเกราะป้องกันตนเองและครอบครัว เพราะเป็นแนวทางสร้างครอบครัวเข้มแข็ง สร้างพลังในชุมชนและของตนเอง จำนวนผู้รับการบำบัดในโครงการนำร่องมีทั้งสิ้น 26 คน DROP OUT 2 คน ของเรือนจำจังหวัดสงขลา เนื่องจากย้ายที่คุมขังและไม่สมัครใจ สำหรับผู้ที่มารับการบำบัดครบเมื่อเดือนเมษายน 2547 จำนวน 24 คน คิดเป็นร้อยละ 92.3 อยู่ในช่วงการติดตามโดยเจ้าหน้าที่ของเรือนจำแต่ละแห่ง

Keywords: ยาเสพติด, สารเสพติด, ผู้ต้องขัง, นโยบาย, โปรแกรมจิตสังคมบำบัด, จิตสังคม, เรือนจำ, drug abuse, substance dependence

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: คลินิกฟ้าใน กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลจิตเวชสงขลานครินทร์

Code: 20040000123

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -