ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อรุณรัตน์ แสงกล้า

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการพัฒนากระบวนการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ-ผู้ติดสารเสพติดด้วยพลังชุมชนอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 341

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล ปัญหายาเสพติดทวีความรุนแรงถึงขั้นวิกฤตและมีปมเงื่อนสำคัญที่การบำบัดรักษาฟื้นฟูแบบดั้งเดิม มีผู้ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วยังกลับไปเสพซ้ำอีกเป็นจำนวนมาก โดยมีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 80 ของผู้ผ่านการบำบัด สิ่งสำคัญที่สุดคือ "ใจ" ของผู้ป่วยที่ต้องฟื้นและมีพลังพอที่จะนำตนเองหลุดพ้นวงจรเดิม และด้วย "ใจ" ของผู้คนในสังคมที่ต้องเอื้ออาทร "ให้โอกาส" ให้เขามีที่ยืนในสังคม สร้างแรงจูงใจ กลับตัว กลับใจ ฟื้นชีวิตใหม่ คืนคนดีกลับสู่สังคมอย่างสันติสุข การพัฒนากระบวนการบำบัดครั้งนี้จึงมุ่งใช้กระบวนการบำบัดโดยทุนทางสังคมการปรับสภาพแวดล้อมชุมชนด้วยความรัก ความเอื้ออาทร ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อันเป็นคุณค่าเดิมของสังคมไทย รวมทั้งทุนทางสังคมไทยที่สำคัญคือชุมชนเข้มแข็ง เป็นต้นแบบให้กับชุมชนที่อ่อนกว่า หนุนเสริมและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดโดยกระบวนการชุมชนในการบำบัดฟื้นฟูและป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดครบวงจร ร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ระดับจังหวัดอย่างบูรณาการ กระบวนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 4 กระบวนการหลักได้แก่ 1. กระบวนการชุมชน เน้นการทำประชาคม สร้างความเข้าใจและการยอมรับในสังคม 2. กระบวนการบ่มกำลังใจ เน้นการเตรียมตัวของสมาชิกทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และส่งเสริมอาชีพ 3. กระบวนการครอบครัวพักใจ เน้นบทบาทครอบครัวอาสาในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วย 4. กระบวนการกลุ่มบำบัด เน้นการป้องกันการกลับไปเสพซ้ำและกลุ่มเพื่อนช่วยการดำเนินงาน 4 ระยะ คือ 1) ระยะเตรียมความพร้อม 1 เดือน 2) ระยะครอบครัวพักใจ 4 เดือน 3) ระยะเสริมกำลังใจ 1 สัปดาห์ 4) ระยะติดตามประเมินผล 8 เดือน ครบเวลา 1 ปี ผลการดำเนินงาน จากการดำเนินงานในรุ่นที่ 1 ในพื้นที่บ้านสียว-โคกกลาง ต.วังชัย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น สมาชิกเข้าโครงการ 13 คน อยู่ครบโปรแกรม 10 คน ติดตามผลหลังจบโปรแกรม 2 เดือน พบว่า 1 คน เข้าอุปสมบททดแทนบุญคุณพ่อ - แม่ 4 คน ร่วมลงทุนประกอบอาชีพเพาะเห็ดขาย มีรายได้เฉลี่ย 10,000-15,000 บาท/เดือน 2 คน ทำงานเป็นลูกจ้างร้านซ่อมรถยนต์ในตัวจังหวัด อีก 3 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่กับครอบครัวเดิม และพบว่าครอบครัวอาสาและชุมชนสามารถให้การดูแลพื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติดได้โดยใช้ทุนทางสังคม ความรัก ความเอื้ออาทร ต่อผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีพลังใจในการต่อสู้ปัญหา กลับสู่สังคมได้อย่างสง่างาม อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน จึงไม่สามารถสรุปได้ว่ารูปแบบที่ชัดเจนควรเป็นอย่างไร ต้องรอให้เสร็จสิ้นโครงการในปี 2548 คาดว่าน่าจะได้ "นวตกรรม" ในการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ-ผู้ติด ด้วยพลังชุมชนที่ชัดเจนขึ้น

Keywords: ยาเสพติด, สารเสพติด, กระบวนการบำบัด, พลังชุมชน, ฟื้นฟูสมรรถภาพ, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, บริการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด, drug abuse, substance dependence

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: โรงพยาบาลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

Code: 20040000124

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -