ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ขนิษฐา พุ่มประดับ

ชื่อเรื่อง/Title: ความพึงพอใจในโครงการให้บริการจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดยาบ้าแบบผู้ป่วยนอกในเขตสาธารณสุขที่ 11

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 3, 25-27 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ, หน้า 342-343.

รายละเอียด / Details:

จากแนวทางของรัฐบาลเพื่อเอาชนะยาเสพติด รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดแนวทาง การจัดกระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยให้มีการจำแนกผู้ติดยาแต่ละกลุ่ม แต่ละตัวยา และกำหนดแนวทางการบำบัดกลุ่มผู้เสพให้เหมาะสมในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมในการบำบัดรักษาฟื้นฟูแต่ละหน่วยงานต่างๆ ในแผนเอาชนะยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุขปี 2544-2545 กรมสุขภาพจิตได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่หลักร่วมกับกรมการแพทย์ในการพัฒนาระบบการบำบัดรักษา โดยใช้โปรแกรมจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดยาบ้าแบบผู้ป่วยนอก(Matrix Program) ซึ่งนับว่าเป็นโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพในการรักษาระยะสั้นและส่งผลให้ผู้รับการบำบัดเกิดทักษะการป้องกันไม่ให้กลับไปติดยาซ้ำ อีกทั้งผู้เข้ารับการบำบัดไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมทั่วไปอย่างปกติ ซึ่งจากการเปิดบริการจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดยาบ้าแบบผู้ป่วยนอกในสถานบริการสาธารณสุขเขต 11 เป็นระยะเวลา 1 ปี ยังมิได้มีการติดตามการให้บริการดังกล่าวผู้ให้บริการและผู้รับบริการมีความพึงพอใจอย่างไร และมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างในการให้บริการที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1. เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจในบริการจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดยาบ้าแบบผู้ป่วยนอก 2. เพื่อทราบปัญหาอุปสรรค ความต้องการในการให้บริการจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดยาบ้าแบบผู้ป่วยนอก วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1. เป็นบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานให้บริการจิตสังคมบำบัดใน รพศ./รพท./รพช. จำนวน 73 แห่งในเขตสาธารณสุขที่ 11 และกลุ่มที่ 2 เป็นผู้รับบริการบำบัดด้วยโปรแกรมจิตสังคมบำบัดฯ ที่จบการบำบัด 16 สัปดาห์ ตั้งแต่ 1 กันยายน 2545 ถึง 31 พฤษภาคม 2546 เป็นผู้ที่สมัครใจ โดยเครื่องมื่อที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่จัดทำขึ้น จำนวน 2 ชุดคือ ชุดที่ 1 แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้รับการบำบัดต่อบริการจิตสังคมบำบัด ชุดที่ 2 แบบสอบถามความพึงพใจของผู้ใช้บริการบำบัด สรุปผลการศึกษา 1. กลุ่มผู้รับการบำบัดทั้งหมดเป็นเพศชาย อายุ 15-24 ปี ติดสารเสพติดประเภทยาบ้ามากที่สุด ซึ่งใช้สารเสพติดนานมากกว่า 2 ปี และส่วนมากจะไปรับบริการครั้งแรกที่ รพช. ผู้รับบริการมีความพึงพอใจระดับมากในด้านบริการ ถึงร้อยละ 80.6 เพราะเห็นว่ารูปแบบเหมาะสมและช่วยให้สามารถเลิกยาเสพติดได้อย่างถาวร ส่วนองค์ประกอบของโครงการบำบัด เช่น กลุ่มครอบครัวศึกษา การบำบัดรายบุคคล กลุ่มฝึกทักษะเลิกยาในระยะเริ่มต้น กลุ่มป้องกันการติดซ้ำ ตลอดจนกลุ่มช่วยเหลือทางสังคม มีความจำเป็นและมีความเหมาะสมในองค์ประกอบของการบำบัด เช่น กลุ่มครอบครัวศึกษา การบำบัดรายบุคคล กลุ่มฝึกทักษะเลิกยาในระยะเริ่มต้น กลุ่มป้องกันการติดซ้ำ ตลอดจนกลุ่มช่วยเหลือทางสังคม มีความจำเป็นและมีความเหมาะสมในองค์ประกอบของการบำบัด สำหรับการได้รับบริการนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากบุคลากรฝ่ายต่างๆ มีความเข้าใจและยอมรับผู้รับการบำบัด ส่วนความต้องการและข้อเสนอแนะ ผู้รับการบำบัดมีความประสงค์ให้ปรับปรุงสภาพแวดล้อม เช่น ความเป็นสัดส่วนขณะรับการบำบัด และควรลดระยะเวลาในการบำบัดให้สั้นลง 2. กลุ่มผู้ปฏิบัติงานใน รพช. ซึ่งเป็นบริการที่ในโรงพยาบาลให้บริการอยู่แล้ว และส่วนมากเคยปฏิบัติงานด้านนี้มานานมากกว่า 1 ปี ซึ่งส่วนมากผ่านการอบรมการให้บริการดังกล่าวมาแล้ว และผู้ปฏิบัติงานพึงพอใจมากในด้านลักษณะงานเนื่องจากเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อสังคม ท้าทายความสามารถ ส่วนในด้านการปฏิบัติงานนั้นพบว่าการให้บริการจิตสังคมบำบัด ทำให้มีความภาคภูมิใจและเกิดการพัฒนาด้านประสบการณ์ตลอดเวลา ในด้านเวลาปฏิบัติงานมีสภาพแวดล้อมดีพอสมควร รวมทั้งมีค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานเหมาะสมในระดับหนึ่ง ส่วนปัญหาอุปสรรค ส่วนมากเป็นเรื่องของสถานที่ ที่ไม่เป็นสัดส่วน ต้องการให้มีการปรับปรุงในด้านระยะเวลาบำบัด และให้มีความซับซ้อนน้อยลง

Keywords: ยาเสพติด, สารเสพติด, รัฐบาล, นโยบาย, โปรแกรมจิตสังคมบำบัด, ยาบ้า, ผู้ป่วยนอก, matrix program, amphetamine, drug abuse, substance dependence

ปีที่เผยแพร่/Year: 2547

Address: ศูนญ์สุขภาพจิตที่ 11 กรมสุขภาพจิต

Code: 20040000125

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิตประจำปี 2547

Download: -